คอลัมน์ Think Tank: ‘สแตร์เวย์ ทู เฮฟเวน’ อีกหนึ่งกรณีศึกษากฎหมายลิขสิทธิ์

โรเบิร์ต แพลนต์ (ซ้าย) และจิมมี เพจ / AFP PHOTO / BRENDAN SMIALOWSKI

เลด เซพพลิน วงดนตรีร็อกระดับตำนานของอังกฤษ เอาชนะข้อกล่าวหาที่มีต่อทางวงว่า ลอกเลียนริฟฟ์กีตาร์ท่อนเริ่มต้นของเพลงที่ออกเมื่อปี ค.ศ.1971 “สแตร์เวย์ ทู เฮฟเวน” มาจากเพลงอื่นได้สำเร็จ และสามารถรักษาสถานะการเป็นที่เคารพบูชาในวงการร็อกไว้ได้ต่อไป

คณะลูกขุนในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ตัดสินเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาให้ จิมมี เพจ และ โรเบิร์ต แพลนต์ มือกีตาร์และนักร้องนำของวง พ้นผิดจากข้อกล่าวหาว่า ขโมยริฟฟ์กีตาร์ที่อาจเรียกได้ว่าโด่งดังที่สุดของเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงชาติของดนตรีร็อก มาจากเพลงบรรเลงปี 1968 ชื่อ “ทอรัส” ของ “สปิริต” วงร็อกอเมริกันในยุคเดียวกัน

การพิจารณาคดีในศาลแขวงของสหรัฐครั้งนี้ถือเป็นอีก “ไคลแมกซ์” ของอุตสาหกรรมดนตรี และส่งผลให้ประวัติศาสตร์และความน่าเชื่อถือของวงร็อกอังกฤษวงนี้ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

แพลนต์และเพจปฏิเสธว่าไม่ได้นำท่อนเริ่มต้นเพลง ที่ปลุกกระแสให้เกิดยุคเรอแนสซองส์ของดนตรีโฟล์ก มาจากสปิริต วงดนตรีไซคีเดลิคจากแอลเอ

Advertisement

ผู้จัดการทรัพย์สินของแรนดี โวล์ฟ หรือที่รู้จักกันในชื่อ แรนดี แคลิฟอร์เนีย มือกีตาร์ของสปิริต ยื่นฟ้องต่อศาล เรียกร้องให้โวล์ฟได้รับการบันทึกชื่อในฐานะผู้ร่วมแต่งเพลงและส่วนแบ่งรายได้จาก “สแตร์เวย์”

คำตัดสินที่ออกมา หมายความว่า เลด เซพพลิน รอดพ้นจากความอับอายและไม่ต้องเผชิญความสูญเสียทางการเงินแบบเดียวกับที่โรบิน ธิก และฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์

โดนในคดีการลอกเลียนผลงานเมื่อปีที่แล้ว ที่ครอบครัวของมาร์วิน เกย์ ยื่นฟ้องว่า เพลง “เบลอร์ด ไลน์ส” ของทั้งคู่ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง “ก็อต ทู กิฟ อิท อัพ” ของเกย์ และได้ค่าเสียหายไป 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

คดีนี้พิจารณาโดยขึ้นอยู่กับคำถาม 2 ข้อ คือ เลด เซพพลิน เคยได้ยินเพลงทอรัส

ก่อนที่จะแต่งสแตร์เวย์หรือไม่? และสแตร์เวย์มีส่วนคล้ายกับทอรัสมากอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่? อ้างอิงจากโน้ตดนตรีที่ยื่นให้สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐเมื่อปี 1968

ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีดนตรีของฝ่ายโจทก์ให้การว่าสแตร์เวย์ มีทางคอร์ดเอไมเนอร์แบบไล่สเกลลง ช่วงห่างในการเล่นโน้ต อาร์เพจจิโอหรือการกระจายโน้ตในคอร์ดต่างๆ และคู่ของตัวโน้ตหลายคู่ ที่เหมือนกับเพลงทอรัส

ขณะที่นักทฤษฎีดนตรีของฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า บันไดเสียงแบบไมเนอร์ที่ทั้ง 2 เพลงมีเหมือนกัน เป็นเครื่องมือทางดนตรีที่พบเห็นได้ทั่วไปมายาวนานหลายศตวรรษ

ลาร์รี ไอเซอร์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ระบุว่า อุตสาหกรรมดนตรีที่ยังคงมึนงงกับคำพิพากษาในคดีของเพลงเบลอร์ดไลน์ส คงจะหายใจโล่งขึ้นบ้าง คำพิพากษาในคดีนี้เหมือนเป็นการแก้ตัวของกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาปกป้องแต่ผู้ที่มาก่อนแบบไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่นัก

“คดีเลด เซพพลิน ได้แสดงให้เห็นว่า ทางคอร์ดที่เป็นข้อพิพาทเป็นกรอบตามแบบแผนทั่วไปของดนตรีป๊อป และดนตรีคลาสสิกมานานหลายศตวรรษ”

ริฟฟ์ท่อนเปิดเพลง”ทอรัส”ของ”สปิริต”

ริฟฟ์ท่อนเปิดเพลง “สแตร์เวย์ ทู เฮฟเวน” ของ “เลด เซพพลิน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image