คอลัมน์วิเทศวิถี: ฟรีวีซ่ากับท่องเที่ยวไทย คำถามหรือคำตอบ

ภาพเอเอฟพี

โลกกำลังจับตากับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในมณฑลหูเป่ย์ของจีนอย่างใกล้ชิด ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุด ณ วันที่ 25 มกราคม ที่ทางการจีนประกาศมาอยู่ที่ 41 คน และมีผู้ติดเชื้อในจีน 1,287 คน แต่หากรวมกับผู้ติดเชื้อที่พบในอีก 14 ประเทศทั่วโลกก็จะกลายเป็นมากกว่า 1,300 คน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาในวันที่ 20 มกราคม ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่เพียง 3 ราย และผู้ติดเชื้อมีเพียงกว่า 200 รายเท่านั้น

ต้องชื่นชม “ยาแรง” ที่รัฐบาลจีนนำมาใช้ นั่นคือการประกาศปิดเมือง ระงับการให้บริการขนส่งสาธารณะ การบิน ไปจนถึงยกเลิกการจัดงานฉลองเทศกาลปีใหม่จีน หรือตรุษจีนในหลายเมือง ซึ่งรวมถึงกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนที่ในขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไม่กี่รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังยกเลิกการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำให้มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ถึงขนาดสั่งปิดพระราชวังต้องห้าม มหาศาลาประชาชน แม้แต่เซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์แลนด์ ก็ต้องปิดบริการตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมเป็นต้นไป

ยาแรงดังกล่าวยังรวมถึงการที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนได้ออกประกาศด่วนตามคำสั่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวทั่วจีนหยุดกิจกรรมท่องเที่ยว รวมถึงหยุดการขายตั๋วเครื่องบินและโรงแรม ส่วนทัวร์ที่เดินทางออกไปแล้วก็ให้ระมัดระวังและดูแลสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ซึ่งเป็นมาตรการแบบที่จีนเคยนำมาใช้เมื่อครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2546

พูดได้ว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศในโลก หรืออาจมีเพียงจีนเท่านั้นที่จะสามารถบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในระดับเข้มข้นเช่นนี้ได้ อย่างที่เราได้เห็นข่าวการสร้างโรงพยาบาลใหม่ขนาด 1,000 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มในเมืองอู่ฮั่นด้วยเวลาเพียง 10 วันเพื่อดูแลผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนา

Advertisement

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ออกไปยังประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เมื่อดูจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนในเรื่องดังกล่าวก็ทำให้อดมองย้อนกลับมายังนโยบายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ที่เพิ่งประกาศว่าจะนำเอามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือที่เรียกกันติดปากว่าการให้ฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดียกลับมาเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในวันที่ 31 มกราคมที่จะถึงนี้

เหตุผลที่ถูกหยิบยกมาสนับสนุนการให้ฟรีวีซ่าคือเป็นมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ผนวกการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียด้วยกันในปีนี้รุนแรงมาก แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียก็ยังประกาศให้ฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียเป็นเวลา 15 วัน จึงมองว่าการยกเว้นวีซ่าเป็น “ยาแรง” ที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียให้มาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจาก “ยาแรง” ที่ไทยคิดจะใช้ กับ “ยาแรง” ที่ฝ่ายจีนประกาศใช้แล้ว ก็น่าจะดูออกว่ายาของใครจะ “แรง” กว่ากัน ดังนั้นนาทีนี้หากจะคิดนำเรื่องยกเว้นวีซ่ามาดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนก็คงต้องตัดประเด็นดังกล่าวทิ้งไป และควรหันมาพิจารณาประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เราพูดกันมาตลอดว่าไทยควรหันไปจับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าจะมุ่งเน้นเพียงปริมาณหรือการทำยอด ช่วงที่ผ่านมาซึ่งไทยได้มีการนำนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสำหรับนักท่องเที่ยว (Visa on Arrival หรือ VoA) ให้กับนักท่องเที่ยว 19 ชาติ ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ แต่ย้อนไปดูตัวเลขนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย 10.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.22% ขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย 1.98 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 21.89%

หากดูจากตัวเลขดังกล่าวเห็นได้ว่าการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมวีโอเอไม่ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวอินเดียที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่ามาก เพราะการยื่นเอกสารวีโอเอไม่ได้ใช้เอกสารมากเหมือนการขอวีซ่าผ่านช่องทางปกติตามสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย ขณะที่ผู้ที่จะเดินทางมาทำธุรกิจก็เลือกที่จะมาขอวีโอเอเพราะสะดวกรวดเร็วกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาในกระบวนการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะแม้แต่ในอดีตที่มีการตรวจสอบเอกสารผ่านการยื่นขอตามช่องทางปกติก็ยังพบการใช้เอกสารปลอมมายื่นขอวีซ่าเข้าไทยอยู่เป็นระยะ

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐบางแห่งพยายามผลักดันเรื่องฟรีวีซ่ามาอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในไทย แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีเสียงท้วงติงจากหน่วยงานของภาคเอกชนไทยเอง อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบการทัวร์จีนได้เข้ามาเช่าสถานที่ในวัดไทย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ของไทย เพื่อขายและปล่อยเช่าพระเครื่องรวมถึงเครื่องรางของขลังปลอมในราคาเรือนหมื่นเรือนแสน หรือกระทั่งข่าวที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจัดระเบียบที่พักในม่อมแจ่ม จ.เชียงใหม่ ก็แว่วว่าเป็นทุนต่างชาติมาซื้อกิจการหรือเข้ามาลงทุนในพื้นที่แบบผิดประเภทเช่นกัน ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งจากหลายธุรกิจที่ชาวต่างชาติเข้ามาผูกขาดตลาดการท่องเที่ยวไทยในลักษณะกินรวบ ยังไม่ต้องพูดถึงตลาดสินค้าเกษตรที่ก็ตกอยู่ในสถานะไม่ต่างกัน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วภาครัฐของไทยไม่สามารถควบคุมหรือจัดระเบียบการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันในไทยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่การจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยวหรือเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นคุณภาพที่นักท่องเที่ยวจะได้รับในขณะมาท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ไม่ถูกโก่งราคาสินค้าหรือโกงค่าโดยสาร การมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวในปริมาณมาก มีการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย ไปจนถึงการจัดการมลพิษที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยต้องการที่จะกลับมาใหม่อีกครั้ง

อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา เรื่องการที่ไทยจะ “เก็บ” หรือ “ไม่เก็บ” ค่าวีซ่า ไม่เคยเป็นประเด็นสำหรับจีนมากเท่ากับความปลอดภัยที่นักท่องเที่ยวจีนควรได้รับขณะอยู่ในไทย

ถ้าจะหยิบยกเรื่องมาเลเซียยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและอินเดียมาเป็นประเด็นโต้แย้ง ก็ควรต้องดูให้ละเอียดด้วยว่ามาเลเซียเขากำหนดวิธีการกันอย่างไร เพราะนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังมาเลเซียภายใต้คำประกาศดังกล่าวไม่ใช่ว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย แต่ต้องทำการลงทะเบียนในระบบ Electronic Travel Registration and Information ก่อนการเดินทางโดยใช้หลักฐานต่างๆ อาทิ ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ การจองที่พัก แผนการท่องเที่ยว และหลักฐานการเงิน ซึ่งต้องเสียค่าบริการ 21.5 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การขอวีซ่าแบบท่องเที่ยวผ่านระบบอี-วีซ่าของมาเลเซียตามปกติ จะมีค่าใช้จ่ายที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของไทยค่าวีซ่าที่เรียกเก็บจากชาวต่างชาติจะตกอยู่ที่ราว 1,000 บาทต่อคน ซึ่งจะว่าไปไม่ใช่เงินจำนวนมาก หากคิดว่ายกเว้นวีซ่าเพื่อดึงดูดให้คนมาเที่ยวไทยในช่วงเงินบาทแข็ง ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะดึงดูดได้แค่ไหน เพราะค่าโรงแรม ค่าอาหาร ไปจนถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ในไทยเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าค่าวีซ่าไม่รู้กี่เท่า ไอ้ครั้นจะทำนโยบายชิม ช็อป ใช้ เอาเงินภาษีคนไทยไปให้คนต่างชาติใช้สอยก็ยิ่งทำให้ถูกมองว่าผู้กำหนดนโยบายพากันเข้ารกเข้าพงลงทะเลไปกันใหญ่

มองในแง่ดีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในขณะนี้เป็นดั่งสัญญานเตือนให้เราควรหันมาจัดลำดับความสำคัญในการท่องเที่ยวไทยเสียใหม่ให้เป็นไปในทางที่ควรจะเป็น และตระหนักว่าสิ่งสำคัญไม่เพียงแต่อยู่ที่การดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ยังควรต้องมีการกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่เอาตัวไปผูกยึดโยงอยู่กับตลาดหลักๆ เพียงไม่กี่ตลาดเท่านั้น

คำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนเดินทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สะท้อนให้เห็นว่าจีนสามารถกำกับและควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางเดียวกัน หากจีนต้องการจะใช้เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นในการเล่นงานประเทศใดๆ แล้ว ก็สามารถทำได้อย่างทรงประสิทธิภาพเช่นกัน อย่างที่เราเห็นมาแล้วกับการที่นักท่องเที่ยวจีนหายไปจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เมื่อมีปัญหาทางการเมืองระหว่างกันเกิดขึ้น

เหรียญมี 2 ด้านฉันใด การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมากโดยปราศจากการควบคุมที่เหมาะสมก็ย่อมส่งผลเสียได้เช่นกัน ยิ่งเมื่อเราไม่สามารถดูแลนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นได้ดีพอ ในระยะยาวนโยบายฟรีวีซ่าอาจจะส่งผลเสียกับการท่องเที่ยวไทยมากกว่าผลดี

ลองตั้งคำถามและตั้งสติคิดกันให้รอบคอบอีกทีว่าฟรีวีซ่าเป็น “คำตอบ” สำหรับการท่องเที่ยวไทยจริงหรือ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image