‘อียู’ประชุมครั้งแรกหลัง‘เบร็กซิท’ไร้เงาผู้ดี สกอตแลนด์ประกาศขอรักษาสิทธิชาติสมาชิก

AFP PHOTO / JOHN THYS

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผู้นำยุโรปพบกันโดยไม่มีอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน หลังการตัดสินใจของชาวสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกรวมๆ กันว่าอังกฤษในการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “เบร็กซิท” เพื่อพยายามบรรเทาผลกระทบ และระงับยับยั้งความไม่เป็นเอกภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สมาชิกอียูที่เหลืออยู่ 27 ชาติ เห็นพ้องกันที่จะให้อังกฤษได้พักหายใจบ้าง โดยยอมรับว่าอังกฤษควรมีเวลาซึมซับความตกตะลึงจากผลการลงมติที่ออกมาก่อนจะประกาศขอใช้สิทธิตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ที่จะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอียูอย่างเป็นทางการ

โดย 5 วันหลังจากการลงมติ 51.9 ต่อ 48.1 เปอร์เซ็นต์เพื่อออกจากอียูที่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วตลาดการเงินโลก นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าต้องใช้เวลารอให้ฝุ่นหายตลบก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ ทว่า นายฌอง-โคล้ด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า อังกฤษไม่ได้มีเวลาหลายเดือนมากเกินไปในการตั้งสติ และได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการประกาศใช้มาตรา 50 ที่จะเริ่มต้นกระบวนการ 2 ปีในการถอนตัวจากอียูอย่างเป็นทางการว่าต้องเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่รับตำแหน่งในเดือนกันยายน

ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เตือนนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษว่า อังกฤษไม่สามารถเลือกเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองในการเจรจาเงื่อนไขการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน (โดมิโนเอฟเฟ็กต์) ได้

Advertisement

ข่าวระบุว่า ขณะที่นายคาเมรอนเดินทางกลับมายังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษแล้วหลังเข้าชี้แจงสถานการณ์ต่อผู้นำอียูชาติอื่นๆ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แต่นางนิโคลา สเตอร์เจียน มุขมนตรีของสกอตแลนด์ ออกเดินทางมายังกรุงบรัสเซลส์ในวันเดียวกันนี้เพื่อโยนหินถามทางต่ออียูในเรื่องที่จะขอเข้าร่วมกลุ่มโดยใช้อัตลักษณ์ของสกอตแลนด์เอง
ทั้งนี้ สกอตแลนด์สนับสนุนการ “อยู่ต่อ” อย่างท่วมท้นในการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และนางสเตอร์เจียนกล่าวว่า เธอมีความตั้งใจที่จะรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์และสถานภาพของสกอตแลนด์ในอียู ซึ่งนั่นทำให้จำเป็นต้องมีการจัดทำประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ครั้งที่ 2 หลังจากที่รอบแรกล้มเหลวไปเมื่อปี 2557 โดยนางสเตอร์เจียนกล่าวว่า อังกฤษแบบในช่วงเวลานั้นไม่มีอีกแล้วหลังจากเบร็กซิท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image