รายงาน : ‘กรมยุโรป’นำประมงพื้นบ้าน ดูงานประมงยั่งยืนในเยอรมนี

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู) และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงในสหภาพยุโรป” ที่ประเทศเยอรมนี โดยมีการนำคณะผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย นายอดิศร พร้อมเทพ ที่ปรึกษากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตอธิบดีกรมประมง และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน พร้อมกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน 3 ราย ได้แก่ นายสะมะแอ เจะมูดอ จากจ.ปัตตานี นายเจริญ โต๊ะอิแต จากจ.นครศรีธรรมราช และ นายปิยะ เทศแย้ม จากจ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ

ศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป

นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป เล่าว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่กรมยุโรปได้รับความร่วมมือจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจากนายอดิศร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงไทยให้กับตลาดเยอรมนีและสหภาพยุโรป และเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านของไทยได้รับทราบถึงประสบการณ์การทำประมงอย่างยั่งยืนและการพัฒนาสินค้าประมงของเยอรมนี

ในระหว่างเดินทางไปครั้งนี้ ผู้แทนภาครัฐและประมงพื้นบ้านได้ร่วมนำเสนอมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาประมงไอยูยู รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวประมงพื้นบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ผ่านเวทีสัมมนาหัวข้อ “Sustainability from Sea to Table: Thailand’s Success in Combating IUU Fishing” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ภายในงาน International Green Week 2020 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยผู้แทนไทยได้อธิบายให้ผู้บริโภคชาวเยอรมนีเห็นว่า สินค้าประมงของไทยได้มาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามาถตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

คณะผู้แทนไทยยังได้พบหารือกับ ดร.มาททีอัส เคลเลอร์ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจประมงแห่งเยอรมนี (BV-Fisch) ผู้มีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้คนเยอรมนีหันมาบริโภคปลาและอาหารทะเลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอย่างยืนของเยอรมนี ได้แก่ ท่าเรือเมืองประมงทางชายฝั่งตอนเหนือของเยอรมนี บริษัทแปรรูปปลาบราวเออร์ อาลคาเท เมืองราเดอ และโรงเรียนชาวประมงเมืองเรนดส์บวร์ก

Advertisement

อธิบดีศศิวัฒน์กล่าวว่า คณะผู้แทนไทยได้รับฟังแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรของชาวประมงในระดับท้องถิ่นของเยอรมนี แนวคิดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยังได้เรียนรู้การสาธิตใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีการคัดแยกสัตว์น้ำที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากร

นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้ฟังว่า สิ่งสำคัญของการเดินทางไปในครั้งนี้คือทำให้ได้เห็นมาตรฐานของการทำประมงของ 2 ประเทศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรักษากฎระเบียบของเจ้าหน้าที่ในเยอรมนีมีความเข้มข้น ขณะที่ผู้ของบริโภคเขาก็ใส่ใจเรื่องขนาดของปลาที่นำมาขาย

Advertisement

ถ้าพูดถึงเครื่องมือประมงที่เรานำเข้าจากประเทศในยุโรป เห็นเลยว่าเราเอาแต่ชื่อเขามา แต่หลักการวิธีการไม่เอามาทั้งหมดทำให้เกิดปัญหา อาทิ อวนลากเขาไม่ให้จับคู่ลาก หรือมีโควต้าจับสัตว์น้ำได้แค่ไหนต่อปี แต่ของเราไปเอามาไม่หมด ทั้งใช้อวนจับคู่ลาก อวนตาถี่ ทำให้สัตว์น้ำลดลงมาก

ขณะที่การประกาศใช้ระบบโควต้าก็เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ ประเทศไทยใช้โควต้าตั้งแต่การทำประมงไอยูยูมีผลบังคับใช้ในปี 2558 โดยคณะกรรมการประมงแห่งชาติให้โควต้ามา แต่ของเรากำหนดเป็นจำนวนวัน ไม่ควบคุมด้วยจำนวนกิโลกรัมที่จับ ทำให้ความยั่งยืนไม่มี พอให้โควต้าเป็นวัน หากชาวประมงเกิดความโลภ ก็จะนำสัตว์น้ำไปเก็บสต๊อกไว้ แทนที่จะเก็บไว้สำหรับจับในอนาคต ขณะที่ประเทศในยุโรปไม่เน้นจับสัตว์น้ำมาก แต่เน้นเรื่องราคา และชาวประมงเขาจะเน้นมากเรื่องควบคุมราคากันเอง เช่นถ้าเขาล่ากุ้ง เมื่อราคากุ้งตกเขาเลิกจับเพื่อให้ราคาขึ้น

การเดินทางไปอย่างนี้มันเปิดโลกทัศน์ให้เรา ในระยะ 5 ปีมานี้ัมีกระแสเรื่องประมงพื้นบ้านกำหนดราคากันเองอยู่แต่ว่ามันยังทำได้แค่ระดับหนึ่ง ผมทึ่งมากที่ชาวประมงของเขาสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ ประเทศเราไปเน้นจับสัตว์น้ำให้ได้มากเข้าไว้เดียวมันก็ดีเอง พอราคาตกไปตำหนิรัฐบาล ทั้งที่พวกเราสามารถควบคุมราคาเองได้ด้วยการไม่จับสัตว์น้ำมากเกินไป หลายๆ อย่างเราต้องควบคุมกันเองเพื่อให้ได้ราคา ชาวประมงต้องปรับตัว ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากๆ เราต้องถอดบทเรียนที่ผ่านมา ชาวประมงไม่มีพัฒนาการที่จะยกระดับฐานะความเป็นอยู่ ขณะที่โลกมันเปลี่ยน ถ้าเรายังใช้วิธีแบบเดิม มันไม่มีทางดีขึ้น

คิดดูว่าชาวประมงเขามีรายได้เดือนละเกือบ 5 แสนบาท เด็กๆ ที่นั่นพูดทุกคนว่าอยากเป็นชาวประมงเพราะรวยแน่นอน แต่ประมงพื้นบ้านเราเป็นความยากจน ทุกคนไม่รวยแน่นอน ที่เยอรมนีเด็กที่จบโรงเรียนชาวประมง 90-98% มีงานแน่นอน ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีแน่นอนจากการทำประมง เพราะระบบมันเอื้อให้เขา ผมอยากเห็นประเทศไทยยกระดับให้ทุกคนภูมิใจในการทำประมง เราจะทำให้คนในประเทศเราคิดและทำอย่างนี้ได้อย่างไร ผมรู้สึกทึ่งมากๆ พูดให้ตายก็ไม่อยากจะเชื่อถ้าไม่ได้ไปเห็น

จากการดูงานทำให้อยากถ่ายทอดให้พี่น้องชาวประมงได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งความมั่นคงทางอาชีพ ความมั่นคงทางอาหาร ทุกอย่างเป็นไปได้ เราคุมได้ทั้งหมด เราต้องสร้างระบบขึ้นมาให้ได้ ความรู้ที่ถ่ายทอดว่าเราทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ถ้าสิ่งที่เราทำมา มันทำแล้วไม่ดีขึ้น เราจะทำไปเพื่ออะไร ต้องขอบคุณกรมยุโรปที่เชิญไปให้เราไปเปิดโลกทัศน์ให้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ในจินตนาการว่ามันมีอยู่จริง

20 ปีที่ผ่านมามีคำพูดว่าทรัพยากรเรามีมาก จับเท่าไหร่ก็ไม่หมด ตั้งแต่ปี 2557-2558 เราพบว่าสัตว์น้ำมันลดลง จนเกิดความวุ่นวายสัตว์น้ำไม่มี พอปี 2562-2563 เราก็พบว่ามันฟื้น เราได้บทเรียนว่าสัตว์น้ำมีมาก หมด และมันฟื้น ผมนั่งถอดบทเรียนออกมามันคือ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือเราไม่เคยใช้กฎหมาย เรามีแต่ผู้บังคับใช้ทุจริตหรือไม่นำกฎหมายมาใช้ นี่คือเรื่องสำคัญ ต่อมาคือเรื่องการใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง สุดท้ายเราไม่เคยมีการกำหนดขนาดของสัตว์น้ำที่สมควรกิน 3 เรื่องนี้มันผสมกัน สิ่งที่บอกได้เลยคือพอเรามีการบังคับใช้กฎหมาย มันดีขึ้นทันตามเห็น สัตว์น้ำเริ่มกลับมา สองเครื่องมือทำลายล้าง ตาข่ายล้อมจับ ทำแบบเสรีเดิมๆ ไม่ได้ พอไม่ทำสัตว์น้ำมันเพิ่มเลย สามกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่สามารถจับได้ ถ้าเราทำ 3 เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จินตนาการที่เราวาดว่ามันว่าไปไม่ถึง มันจะไปได้

“ผมพูดบ่อยว่ากฎหมายไม่ได้ทำให้เราแย่ลง อาจจะลิดรอนสิทธิบางประเด็นในการเข้าถึงสิ่งจำเป็นของชีวิต แต่มันแก้กันได้ กฎหมายไม่ได้ทำให้ชาวประมงเดือนร้อน แต่ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรมากจนเกินควร ถ้าไม่มีทรัพยากรทุกคนเดือนร้อนหมด เพราะทะเลไม่ใช่แค่แหล่งอาชีพแต่เป็นทรัพยากรของประเทศเราด้วย”ปิยะทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

ด้าน นายเจริญ โต๊ะอิแต นายกสมาคมประมงพื้นบ้านในทุ่ง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า สิ่งที่ได้จากการเดินทางไปร่วมโครงการนี้คือการนำความรู้มาพัฒนาพื้นที่ในเรื่องรูปแบบโรงเรียนชาวประมงว่าจะทำอย่างไรให้เด็กและชุมชนมีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เด็กมีจิตสำนึกและคิดได้ตั้งแต่เด็ก รวมถึงวิธีคิดเรื่องการแยกสัตว์น้ำเวลาจับ เพื่อให้คนอื่นรู้เรื่องการไม่จับสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ประมงพื้นบ้านตอนนี้ไม่มีปัญหา พอรัฐบาลสนับสนุนการฟื้นฟูทะเล ทำบ้านปลา บ้านปู ทำให้หน้าบ้านของเรามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เราทำกิจกรรมเติมเต็มให้ทะเลได้ หลังได้ใบเหลือง เราทำงานฟื้นฟูเห็นทันตาว่าจำนวนสัตว์น้ำมันเพิ่มขึ้นมาก ชาวประมงออกทะเลก็มีความสุข กลับมาเข้าฝั่งก็ยิ้มได้ ครอบครัวมีความสุข เพราะไม่ต้องออกไปหากินข้างนอก

ความเห็นจากผู้แทนชาวประมงที่ร่วมในโครงการนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่อธิบดีศศิวัฒน์ประเมินว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งนั้นไม่เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านไม่เพียงจะได้รับความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จากการเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดและน่ายินดีอย่างยิ่งก็คือทุกคนมีความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับชาวประมงพื้นบ้านในเครือข่ายของตน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพพร้อมไปกับการเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของทะเลไทยต่อไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image