คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อนาคตของ’อียู’

REUTERS/Hannibal Hanschke

ไม่ว่าใครที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปครั้งสุดท้ายของตนเองเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็คงตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อ พูดไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนๆ กัน ระหว่าง “เวิร์กกิ้ง ดินเนอร์” ของวันนั้น

เมื่อบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตา พากันทยอยเข้ามาบอกเล่าต่อคาเมรอนว่า การเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษนั้นมีความหมายกับประเทศของพวกเขามากแค่ไหน ผู้นำอังกฤษไม่สามารถตอบกลับเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจะแสดงความเสียใจ

เสียใจที่หลังจากพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ความเชื่อของเขาที่ว่า อังกฤษจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่า รุ่งเรืองกว่า และเป็นปึกแผ่นมากกว่าหากยังคงเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของ “สหภาพยุโรป” ก็ได้รับเสียงสนับสนุนในการทำประชามติน้อยกว่า ผู้ที่ผลักดันแนวทางแยกตัวออกมาเป็นอิสระ

“ผมไม่ได้ถอย ผมทุ่มให้กับเรื่องนี้ทั้งตัว ทุ่มเทสมอง หัวใจและจิตวิญญาณทั้งหมด เพื่อให้อังกฤษยังอยู่ในอียู แต่ไม่สำเร็จ” เขาบอก ในสภาพที่ผู้สื่อข่าวช่างสังเกตบางคนบอกว่าเต็มตื้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกจนเห็นได้ชัดเจน

Advertisement

จนถึงขณะนี้ “เบร็กซิท” ยังคงสร้างความปั่นป่วนขนานใหญ่ขึ้นในอังกฤษ เงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างหนัก ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา และแทบจะอยู่ใน 1 ต่อ 1 กับค่าเงินดอลลาร์ สร้างความแตกตื่นให้กับตลาดเงินตลาดทุนโลกชนิดที่มูลค่าในตลาดหายไปมากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ชนิดที่ทำให้มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งอังกฤษ แถลงยอมรับว่าอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

แต่สภาวะทางเศรษฐกิจยังไม่โกลาหลเท่ากับการเมืองอังกฤษในเวลานี้ ที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ซึ่งเคยผลัดกันขึ้นมาบริหารประเทศตกอยู่ในสภาพเกิด “สงครามกลางเมือง” ส่งผลให้ความชัดเจนในการก้าวต่อไปข้างหน้า ทั้งในพรรคอนุรักษนิยมที่เป็นรัฐบาลและพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้าน

อาจเป็นเพราะสถานการณ์ที่พลิกผันเป็นย่ำแย่ภายในชั่วเวลาข้ามคืนดังกล่าว ที่ทำให้นักข่าวกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยเอากับอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีผู้ทรงอิทธิพลในอียูในเวลานี้ว่า มีหนทางเปลี่ยนแปลงผลจากการทำประชามติครั้งนี้หรือไม่

Advertisement

แมร์เคิลแสดงจุดยืนบนโลกแห่งความเป็นจริงไว้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่า หลังจากการทำประชามติจนถึงนาทีนี้ ยังมองไม่เห็นหนทางที่ทุกอย่างจะหวนกลับคืนไปเหมือนเดิม

“ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาสมมุติหรือคิดฝันไปในทางไหน แต่เป็นเวลาที่ต้องรับมือกับความเป็นจริง”

“ความจริง” ไม่ว่าจะเจ็บปวดแค่ไหน ก็ย่อมเป็นความจริงวันยังค่ำ การตัดสินใจที่จะแยกตัวออกไปของประชาชนส่วนใหญ่ในอังกฤษแม้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคำถามขึ้นกับ “อุดมการณ์” ของการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่หน่อความคิดเรื่องการรวมตัวนี้ผุดขึ้นมาเมื่อกว่า 60 ปีก่อน

สหภาพยุโรป หรืออียู ไม่ว่าจะมีอังกฤษรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ก็ยังคงสถานะเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมทางสังคมและการเมืองโลก ที่สำคัญและประสบความสำเร็จสูงมากอยู่ต่อไป แนวความคิดที่ก่อตัวขึ้นในท่ามกลางซากปรักหักพังของสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จสูงสุดในฐานะเป็น “โปรเจ็กต์เพื่อสันติภาพ” ที่ทำให้ภาคพื้นยุโรปที่ขับเคี่ยว รบรากันอย่างหนักในมหาสงครามทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านั้นคงอยู่ในสันติมาเนิ่นนาน

นักวิชาการร่วมสมัยชี้ว่า “อียู” มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ประเทศที่เคยถูกครอบงำด้วยลัทธิความเชื่อแบบอำนาจนิยมอย่างสเปน โปรตุเกส หรือแม้กระทั่งอิตาลี กลายเป็นชาติประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ ความเป็น “อียู” มีนัยสำคัญในแง่ของการสร้างหลักประกันและปกป้องความมั่งคั่ง รุ่งเรืองขึ้นภายในขอบเขตปริมณฑลของตน ผ่านหลักการสำคัญ นั่นคือการทำให้ “ง่าย” ต่อการเดินทางไปมาหาสู่ ง่ายในการซื้อหา

สำหรับผู้ที่เห็นพ้องกับแนวทางการรวมตัวกันขึ้นเพื่อเอกภาพด้วยภราดรภาพนั้น “อียู” ไม่แตกต่างไปจากการสร้างครอบครัวขยายขนาดใหญ่ขึ้นมาแทนที่ความเย้ายวนใจของการพิชิตไปให้ทั่วทั้งภาคพื้นก่อนหน้านี้

แต่ “เบร็กซิท” สะท้อนความจริงประการหนึ่งให้เห็นว่า มีคนจำนวนไม่น้อยในเวลานี้ ที่ไม่ได้มอง “อียู” แบบเดียวกันนั้นอีกต่อไป

ในทางตรงกันข้าม “บรัสเซลส์” ที่ได้ชื่อว่าเป็นนครหลวงแห่งสหภาพ คือตัวแทนของ “ระบบบริหารขนาดมหึมา” ที่ไม่เพียงอืดอาด อุ้ยอ้าย แต่ยังมุ่งมั่นที่จะครอบงำทุกสิ่งและกำกับทุกคนให้ดุ่มเดินไปในทิศทางเดียวกันในนามของความเป็น “สถาบัน”

แทนที่การมองไปยังอนาคตที่รุ่งโรจน์ร่วมกัน ผู้คนจำนวนหนึ่ง นักการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง เริ่มก้มหน้าก้มตามองไปที่ตัวเอง คำนึงถึงสิ่งที่ตนเองจะได้รับว่าจำเป็นต้อง “มากที่สุด” และ “เร็วที่สุด” มากกว่าคนอื่นๆ

สัญญาณบางอย่างสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ทำนองนี้มาเนิ่นนานไม่ใช่น้อย อย่างน้อยที่สุดเราก็เห็นได้จากกรณีที่คนเยอรมันเริ่มไม่ตื่นเต้น กระตือรือร้น ในการให้ความช่วยเหลือกรีซให้หลุดพ้นจากความยุ่งยากทางการเมือง ที่ในเวลาต่อมาลงเอยด้วยการที่เยอรมันเองก็แทบจะเรียกได้ว่าถูกโดดเดี่ยวในการรับมือกับวิกฤตการณ์ผู้อพยพในเวลานี้

อุดมการณ์แห่งสมานฉันท์เริ่มทลายลงทีละชิ้น ทีละส่วน ก่อนชิ้นใหญ่โตที่สุดจะหลุดร่วงลงมาเมื่อเกิด “เบร็กซิท”

“เบร็กซิท” ในบริบททางการเมืองระหว่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึง “การเกิดใหม่” ของลัทธิชาตินิยมอีกด้วย

แม้ “สหภาพยุโรป” ยังคงเป็น “สหภาพยุโรป” อันเป็นศูนย์รวมของความรุ่งเรืองและสันติอยู่ต่อไป แต่ไม่จำเป็นต้องอาศัยสายตาพินิจพิเคราะห์มากมายนัก ก็สามารถมองเห็นความท้าทายใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นต่อความเป็นเอกภาพและภราดรภาพดังกล่าวได้ไม่ยากเย็นนัก

ฝรั่งเศส มหาอำนาจลำดับที่ 2 รองจากเยอรมนีในอียู กำลังเผชิญปัญหาหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจอ่อนแอ การหยุดงานประท้วง และการก่อการร้าย จนในเวลานี้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นกลจักรสำคัญเคียงคู่กับเยอรมนีในการขับเคลื่อนสหภาพให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น

แนวคิดประชานิยมเอียงขวา ที่ปฏิเสธความเป็นเหตุเป็นผลแม้แต่ตามตรรกะสามัญธรรมดา กำลังก้าวรุดหน้าในหลายๆ ประเทศภายในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, ออสเตรีย, เยอรมนี หรือในเนเธอร์แลนด์ ขบวนการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักเคลือบแคลงสงสัยต่อความเป็น “สหภาพ” และบ่อยครั้งที่เป็นปฏิปักษ์กับหลายความคิดภายในกรอบการรวมตัวกันดังกล่าวนั้น

ในโปแลนด์ เช่นเดียวกับที่ฮังการี แนวโน้มของความเคลื่อนไหวในทิศทางต่อต้านประชาธิปไตยปรากฏให้เห็นชัดเจน การโจมตีคุกคามต่อสื่อมวลชนและกระบวนการยุติธรรมในประเทศเหล่านี้ ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญว่า เป็นก้าวแรกๆ ของการเดินทางไปสู่ความเป็นรัฐเผด็จการอำนาจนิยม

ในโรมาเนีย บัลแกเรีย และโครเอเชีย มีปัญหาเชิงโครงสร้างการเมืองการปกครองจนทำให้ไม่แข็งแกร่งอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่ “ชนชั้นการเมือง” ในประเทศเหล่านี้ก็ยังอยู่ในสภาพ “มืดบอด” เพราะถูกปิดหูปิดตาจากการคอร์รัปชั่นที่ระบาดอย่างกว้างขวาง กรีซไม่เพียงมีปัญหาเศรษฐกิจชนิดที่ทำให้ต้องพึ่งพาการอุ้มชูจากอียูอยู่ในเวลานี้ กระบวนการปฏิรูปที่นั่นยังอยู่ในสภาพเดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ดี อยู่ต่อไป

ในประเทศอย่างอิตาลี หรือสเปน กระแสความต้องการให้รัฐบาลหันมาควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง ปลดตัวเองให้เป็นอิสระด้านเศรษฐกิจจากแรงกดดันจากอียู หรือเยอรมนี ที่มาในรูปของ “มาตรการรัดเข็มขัด” และ “การบังคับปฏิรูป” ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่ยังไม่นับปัญหาที่หลายประเทศในอียูจำเป็นต้องรองรับผู้หลบหนีภัยสงครามหลายต่อหลายล้านคน จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด

เมื่อมองไปที่ความท้าทายเหล่านี้แล้ว หันกลับมามองสถานการณ์ “เบร็กซิท” ไม่ว่าใครก็คงกังขาอย่างยิ่งว่า อนาคตของอียูจะเป็นไปอย่างไร?

สามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ หรือเบร็กซิท คือสัญญาณชัดเจนที่สุดถึงจุดสิ้นสุดของโปรเจ็กต์มหึมานี้?

วิสัยทัศน์หลักของสหภาพยุโรป ก็คือการก้าวตามลำดับขั้นเรื่อยไปจนสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือการเป็นรัฐรวมในรูปแบบของ “สหพันธรัฐ” ที่วาดฝันกันไว้ว่า บรรดาประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกจะสมัครใจค่อยๆ ทยอยมอบอำนาจอธิปไตยและลดทอนความเป็นชาติรัฐของตนเองลงทีละเล็กทีละน้อยตามกาลเวลาที่ผ่านไป จนในที่สุดก็จะกลายเป็น “สหรัฐแห่งยุโรป” ที่ปกครองโดยศูนย์กลางที่บรัสเซลส์

ปัญหาก็คือ “สหพันธรัฐ” ไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นได้ “โดยสันติ” ในโลกแห่งความเป็นจริง

อังกฤษปฏิเสธความใฝ่ฝันดังกล่าวนี้แล้วอย่างชัดเจน เหมือนกับที่เคยแสดงความเคลือบแคลงมาตลอด สิ่งที่อังกฤษต้องการคือความเป็นกลุ่มก้อนของพันธมิตรที่แม้จะแนบแน่นอย่างไรก็ยังทิ้งช่องว่างเอาไว้ให้ความเป็นชาติรัฐได้หายใจได้คล่องตัวตลอดเวลา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อังกฤษต้องการการรวมตัวที่ยังประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้ตนได้ แต่ปฏิเสธการรวมตัวใดๆ ที่จะส่งผลถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติในที่สุด

และความเป็นจริงในเวลานี้ก็คือ อังกฤษไม่ต้องการอะไรจากอียูอีกต่อไปแล้ว

คำถามไม่ใช่ว่า อียูต้องการอังกฤษหรือไม่ แต่เป็นอียูเองจะเดินต่อไปอย่างไร? นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องอียูเชื่อว่า สหภาพยุโรปไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น นอกจากจะก้าวเดินต่อไป ภายใต้การประคับประคองของ 2 ประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่ “ความเป็นหุ้นส่วน” ซึ่งกันและกันยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ซึ่งในอีกทางหนึ่งนั้นหมายความว่า เยอรมนีจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือฝรั่งเศสให้มากที่สุดทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อบรรลุถึงความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง เพื่อให้ความเป็นอียูสามารถเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง

เป้าหมายของการเดินหน้าครั้งนี้เฉพาะหน้าก็คือการสร้างสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “แก่นของยุโรป” ที่ไม่เพียงจับมือกันด้วยความเต็มใจ แต่ยังเล็งเห็นความรุ่งโรจน์ในอนาคตร่วมกัน เพื่อลงมือ “ปฏิรูป” ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและในด้านความเป็นสถาบันต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่ความเป็น “มาตรฐาน”

ประเทศใดก็ตามที่ไม่ “เต็มใจ” และ “เต็มที่” กับสิ่งนี้ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะครั้งนี้ “มาตรฐาน” จำเป็นต้องเป็น “มาตรฐาน” ไม่มีการผ่อนปรน ปล่อยให้เกิดกรณี “แหกตา” หรือ “ค้างชำระ” กันอีกต่อไป

ดูเหมือนมีแต่หนทางนี้เท่านั้น ที่ยังจะทำให้ “อียู” ทรงความหมายและทรงคุณค่าในฐานะเป็น “แบบอย่าง” ของการรวมตัวกันทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image