เหลียวมองเพื่อนบ้าน ส่องเป้าหมาย”การอ่านและหนังสือ”ฉบับล่าสุด

เสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียนเปิดอย่างเป็นทางการแล้วในปีนี้

ประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียนขยับตัวกันอย่างคึกคัก และไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจสังคมเท่านั้นที่ได้รับการโฟกัสและให้ความสำคัญ หลายประเทศให้ความสำคัญกับการอ่านและวงการหนังสืออย่างเต็มตัว ถึงขั้นประกาศออกมาสู่สาธารณะถึงสิ่งที่พวกเขาตั้งจะให้เกิดขึ้น ทั้งในระยะอันใกล้และระยะไกลๆ แต่ต้องตั้งต้นกันตั้งแต่วันนี้ เป็นความสำคัญที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดที่ต้องการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนประเทศ มนุษย์ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ซึ่งลักษณะพื้นฐานเหล่านี้ องค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือต้องเป็นมนุษย์ที่รักการอ่าน

ประเทศเพื่อนบ้านติดขอบชายแดนอย่างมาเลเซีย ตั้งเป้าไว้ว่าอีก 4 ทศวรรษ หนึ่งในเป้าหมายที่มีไว้พุ่งชนของมาเลเซีย คือ “รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม”

เวลาเอ่ยถึงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เรามักรู้สึกว่าค่อนข้างห่างไกลอาเซียนอยู่ไม่น้อย

Advertisement

นับตั้งแต่ ค.ศ.1901 โนเบลสาขาวรรณกรรมที่สัมผัสได้ใกล้สุดในเชิงภูมิภาค คือนักเขียนจากจีนและญี่ปุ่น อย่าง “ยาสุนาริ คาวาบาตะ, เกาสิงเจี้ยน, ม่อเหยียน, เคนซะบุโร โอเอะ” แล้วก็มีหลายคนนั่งลุ้น “มูราคามิ” อยู่แทบทุกปี

แต่เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์นิว สเตรต ไทม์ แห่งมาเลเซีย รายงานว่า “ดร.ซาฮิด ฮามีดี” รองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบรางวัลของมูลนิธิพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2015 ที่ปุตรา เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เป็นสุนทรพจน์ที่มีใจความท้าทายให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ในมาเลเซีย ตั้งเป้าหมายให้หนึ่ง คือการก้าวเข้าไปรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2057 ที่ต้องเป็นปีนี้นั้น ก็เพื่อเฉลิมฉลอง 100 ปีที่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ซาฮิด ฮามีดี กล่าวว่า เป้าหมายดังกล่าวเป็นความปรารถนาของประเทศ ที่ต้องการผลักดันให้นักเขียนมาเลเซียก้าวไปในเส้นทางหนังสือระดับโลก และคว้ารางวัลมาให้ได้โดยเฉพาะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

Advertisement

อย่างแรกที่เขามองว่าควรทำคือนักเขียนจะต้องก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนหรือกับดักจากการยึดติดกับงานเขียนแนวดั้งเดิม การเขียนในแบบที่ผู้อ่านจะชอบเสียตั้งแต่วันนี้และผลิตงานให้ดีกว่าที่ผ่านมา ผลิตในสิ่งเป็นศิลปะมากกว่าคิดว่าใครชอบอ่านไม่ชอบอ่าน ในส่วนของสำนักพิมพ์นั้นแม้ว่าสำนักพิมพ์ในมาเลเซียจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์ระดับนานาชาติ แต่ต้องมองทะลุเงื่อนไขของขนาดออกไปให้ได้ มองให้เห็นว่าหนังสือจากนักเขียนมาเลเซียจะสามารถต่อยอดไปสู่คนอ่านทั่วโลกผ่านสำนักพิมพ์ระดับโลกและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผลิตหนังให้คนดูทั่วโลกได้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลเองก็ตั้งใจช่วยบรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วยการตั้งหน่วยงานพิเศษมาดูแลโดยเฉพาะ

เพราะรัฐบาลมองว่าถ้าไม่มีการเริ่มก้าวแรก ก็จะไม่มีก้าวต่อไป และไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้แน่นอน รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับวงการหนังสือและการเรียนรู้ของประชากรเสมอ โดยในปี 2558 รัฐบาลมาเลเซียได้มอบเงิน 2 ล้านริงกิต หรือประมาณ 18 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิ “เนชั่นแนล บุ๊ค เดเวล็อปเมนท์” หรือมูลนิธิพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในการช่วยพัฒนาวงการหนังสือ

ไม่ว่าจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า แต่การเดินทางของวงการหนังสือมาเลเซียใน 41 ปีต่อจากนี้เพื่อเป้าหมายดังกล่าว ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งต่อวงการนักเขียน วงการหนังสือ และการอ่านการเรียนรู้ของประชาชนชาวมาเลซียอย่างแน่นอน ซึ่งจะว่าไปแล้วสำคัญยิ่งกว่าการคว้ารางวัลใดรางวัลหนึ่งของบุคคลเสียอีก เพราะคือการสร้างฐานการเรียนรู้ให้กับประชาชนในเจเนอเรชั่นต่อไปของมาเลเซีย

ในขณะที่เวียดนาม รัฐบาลเวียดนามมีแนวคิดเรื่อง “”Intelligent Economy”” และตั้งเป้าหมายไว้ว่าเวียดนามจะต้องพัฒนาสู่ประเทศอุตสาหกรรมในปี 2563 ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก กระทรวงวัฒนธรรมของเวียดนามกำหนดให้ ปี 2553-2563 เป็นช่วงทศวรรษแห่งการอ่าน และเผยแพร่ยุทธศาสตร์ที่จะสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ของเวียดนามขึ้นมา โดยเน้นเจาะไปที่ครอบครัว เพราะปัญหาการอ่านของเวียดนามที่มีสถิติอ่านกันปีละ 60 เล่มก็คล้ายๆ กับไทย คือพ่อแม่ไม่อ่านลูกก็เลยไม่อ่านด้วย ขณะที่ห้องสมุดก็ไม่สามารถที่จะสร้างแรงจูงใจในการเดินเข้าไปหาหนังสือได้มากพอ กระทรวงวัฒนธรรมของเวียดนามจึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงห้องสมุด การบริการทั้งในแง่ของสิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพยากรบุคคลอย่างบรรณารักษ์ และจัดกิจกรรมการอ่านให้มากขึ้นในแต่ละพื้นที่ของเวียดนาม

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมุ่งสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถต่อยอดไปยังเรื่องของการเรียนรู้ได้ด้วย อาทิ สนับสนุนในการทำแอนิเมชั่นสำหรับเด็กเพื่อฉายทางโทรทัศน์ เพราะเชื่อว่าปัจจุบันสิ่งแรกที่เด็กเลือกดูก็คือโทรทัศน์ ดังนั้น จึงจับเอาหนังสือมาใส่ไว้ในโทรทัศน์และทำให้เคลื่อนไหวได้ เพื่อจูงใจเด็กๆ ในวัยแรกเริ่มเรียนรู้ ก่อนที่จะต่อยอดไปสู่การเปิดหน้าหนังสือเพราะอยากรู้เรื่องราวที่มากกว่าแอนิเมชั่นในจอโทรทัศน์

ด้านสิงคโปร์นั้น ปัจจุบันอยู่ในช่วง “”Libraries for Life” (L2020)” ที่รัฐบาลสิงคโปร์เน้นยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยอ่านหนังสือ เรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่สังคมสำหรับพบปะสังสรรค์ เรียนรู้และเชื่อมโยงกับศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อทำให้ประเทศเป็นสุดยอดผู้นำด้านศิลปะและวัฒนธรรม

การอ่านของสิงคโปร์คือ ?การสร้างแบรนด์? ไม่ใช่มาบังคับให้นั่งอ่านกันไปเรื่อยๆ แต่สร้างพื้นที่ของการอ่านให้มีลักษณะของการแฮงเอาต์ที่มาทำกิจกรรมได้หลากหลาย รองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ ตอนนี้สิงคโปร์มีห้องสมุดขนาดใหญ่และทันสมัย 26 แห่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นห้องสมุดปกติทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีอีกประเภทเรียกว่า “Shopping Mall Libraries” ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าขนาดย่อมลงมา ซึ่งจะมีหนังสือและสื่อต่างๆ ประมาณ 200,000 รายการ และอีก 15 ปีข้างหน้ามีแผนสร้างและปรับปรุงห้องสมุดอีก 16 แห่ง โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ล่าสุดคือการเปิดตัวโครงการ “My Tree House” ห้องสมุดสีเขียวสำหรับเด็กแห่งแรกของโลก

สำนักพิมพ์ของสิงคโปร์เองมักจัดอบรมให้แก่นักเขียนและสำนักพิมพ์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงาน เพราะโลกเติบโตทุกวันในด้านเทคโนโลยี เนื้อหาจึงต้องสอดรับกับบริบทโลก ต้องมีความเป็นสากล รวมถึงมีอิสรภาพในการแสดงออกด้านความคิดทั้งเรื่องเนื้อหาและภาพประกอบด้วย การอบรมทั้งเทคนิคทางการตลาด การทำปก การพิมพ์ ทำให้นักเขียนและนักวาดได้ค้นพบรูปแบบใหม่ๆ ในการทำงาน

อย่าถามถึงประเทศไทย ตอนนี้ยังไม่พบข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากคำว่าดิ้นรนด้วยตัวเอง

“เอ๊ะ แต่ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกเหมือนเรายังอยู่ในทศวรรษการอ่านอยู่เลยนะ…หรือยังไง?”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image