วิเทศวิถี : การเมือง&การต่างประเทศ

สัปดาห์นี้เราจะได้เห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นั่งในเก้าอี้ดังกล่าวมายาวนานตั้งแต่ปี 2557 แน่นอนว่าเมื่อดูจากรายชื่อของรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าหมายในการอภิปรายครั้งนี้แล้ว นอกจากพี่น้อง 3 ป. ผู้ที่ตกเป็นเป้าอื่นๆ ยกเว้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็เป็นรัฐมนตรีในโควต้าของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่มีพรรษาแก่กล้าทางการเมืองและน่าจะทนแรงเสียดทานได้น้อยกว่าบรรดานักการเมืองอาชีพ

ในบรรดารายชื่อทั้งหมดต้องยอมรับว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรายชื่อที่ใครต่อใครแปลกใจมากที่สุด เพราะหากไม่นับถึงประเด็นปราสาทพระวิหารที่เคยถูกหยิบยกมา “เล่น” เป็นประเด็นการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในระยะหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมักจะไม่ค่อยตกเป็นเป้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่อย่างใด

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษของพรรคเพื่อไทย ประกาศจองกฐินนายดอนตั้งแต่เปิดตัวในตำแหน่งดังกล่าว ประเด็นที่ร.ต.อ.เฉลิมพุ่งเป้าอภิปรายนายดอนคือเรื่องคดีความของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ที่ค้างคากันมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และเป็นเรื่องที่ร.ต.อ.เฉลิมเคยลุกขึ้นอภิปรายในสภาตั้งแต่ปี 2554 ย้ำว่าเป็นประเด็นที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่แล้วสำแดงเท็จ โดยสำแดงราคาต่ำกว่าความจริง

เรื่องดังกล่าวถูกฟิลิปปินส์นำไปยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก ว่าไทยละเมิดพันธกรณีเนื่องจากมีการประเมินราคาที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร(ซีวีเอ)ขององค์การการค้าโลก ซึ่งในปี 2554 องค์การการค้าโลกได้ตัดสินให้ไทยแพ้ในทุกกรณีในชั้นอุทธรณ์ ฝ่ายไทยจึงต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร ให้สอดคล้องกับคำตัดสิน

Advertisement

ระหว่างที่คดีความเก่ายังค้างคาอยู่นั้น ฝ่ายไทยได้ฟ้องคดีสำแดงราคาเท็จกรณีเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ทั้งจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียระหว่างปี 2546-2552 จนเป็นที่มาของคดีความรอบ 2 ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้ององค์การการค้าโลกซ้ำภายใต้กลไกที่กำหนดว่า หากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งขององค์การการค้าโลก ประเทศคู่กรณีก็สามารถร้องขอให้ตั้งคณะพิจารณาทบทวบการปฏิบัติตามคำตัดสินได้ ซึ่งก็มีคำตัดสินว่าไทยยังไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินเมื่อปี 2554 ด้านศาลอาญาของไทยมีคำตัดสินเมื่อปี 2562 ในคดีใบขนบุหรี่จากฟิลิปปินส์ว่าบริษัทฟิลลิป มอริส กระทำผิดจริง พร้อมกับเรียกค่าปรับ 1,225 ล้านบาท ขณะที่คดีในขนบุหรี่จากอินโดนีเซียน่าจะทราบผลในเร็วๆ นี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงพันกันให้วุ่นระหว่างการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานไทยในการประเมินราคาศุลกากร กับการดำเนินการตามซีวีเอที่ไทยในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลกมีพันธกรณีที่เราต้องยึดถือ กับการฟ้องคดีสำแดงราคาเท็จตามกฎหมายไทยซึ่งขัดต่อซีวีเอ จนทำให้ไทยมีคดีความค้างคาอยู่ในชั้นอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลกอีก 2 คดี

สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือไทยในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลกควรยึดถือกฎหมายในประเทศเป็นหลัก อาศัยช่องว่างของกฎหมายภายในประเทศเพื่อที่จะเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่เรามีในเวทีโลก หรือต้องแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศขององค์กรที่เราเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนว่าทางเลือกแรกย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น

Advertisement

กลับมาที่ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อนายดอน มีการกล่าวหากันอย่างรุนแรงว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลองที่กำหนดไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติ ฯลฯ อีกยาวเหยียด

ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ขณะที่คดีกำลังอยู่ในการพิจรณาของศาล นายดอนมีหนังสือหารือถึงพล.อ.ประยุทธ์ 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่เห็นอาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อให้การประเมินราคาศุลกากรของไทยสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และ 7 มีนาคม 2562 ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำให้คำสั่งไม่ฟ้องกลับมามีผลใหม่ ให้ยุติการฟ้องคดีอาญากับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส และทบทวนการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย

อย่างไรก็ดีหากไปอ่านเนื้อหาของหนังสือทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้วก็จะเห็นได้ว่า ยังมีรายละเอียดของเรื่องต่างๆ มากมายนอกเหนือจากที่ร.ต.อ.เฉลิมหยิบยกขึ้นมาสรุปไว้เพียงสั้นๆ

การให้ความเห็นประกอบการพิจารณาในเรื่องต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับต่างประเทศ หรือเป็นกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นถือเป็นหน้าที่ปกติของกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว แม้แต่คดีความอย่างการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศต่างๆ เมื่อศาลตัดสินแล้วก็ยังต้องให้กระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นประกอบว่าควรทำหรือไม่อย่างไร เพราะเป็นประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ได้

การให้ความเห็นในแต่ละกรณีของกระทรวงการต่างประเทศก็จะต้องมีการพิจารณาจากแง่มุมในทุกมิติของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในภาพรวม ไม่ได้ยึดเอาเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น และความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นในเชิงวิชาชีพที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานของไทยทราบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทุกๆ แง่มุม แต่ไม่ใช่การชี้แนะหรือสั่งว่าหน่วยงานใด ควรทำอย่างไร เพราะที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในแต่ละเรื่องแต่ละราวจะนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาอีกครั้งว่า แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับผลประโยชน์ของประเทศไทยคืออะไร

ล่าสุดฟิลิปปินส์ได้ร้องขอต่อองค์กรระงับข้อพิพาท(Dispute Settlement Body หรือดีเอสบี)ขององค์กรการค้าโลก เพื่อขอตอบโต้ทางการค้ากับประเทศไทยมูลค่าปีละ 594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 17,800 ล้านบาทแล้ว อันเป็นผลจากการเพิกเฉยต่อคำสั่งของไทย แถมยังฟ้องฟิลลิป มอร์ริส ซ้ำดังที่ได้สรุปให้ฟังมาแล้วข้างต้น ก็อยากจะเห็นเหมือนกันว่าใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมานี้

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และหลากมิติ หลังจากที่เราผ่านเรื่องปราสาทพระวิหารกันมาอย่างบอบช้ำ เราทุกคนควรคิดให้จงหนักหากจะนำประเด็นที่อาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาเล่นงานทางการเมืองกันอีก โดยเฉพาะกับประเด็นที่มีความอ่อนไหวและอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยว่าเราเป็นประเทศที่ไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่เรามีในเวทีโลก

แม้การเมืองจะเป็นเรื่องของการเอาชนะคะคาน แต่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความน่าเชื่อถือของไทยในสายตาประชาคมโลกเป็นสิ่งที่ไม่ควรแบ่งฝักฝ่าย เพราะนี่คือเรื่องที่ทุกคนควรช่วยกันธำรงรักษามากกว่ามิใช่หรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image