คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ความไม่มั่นคงทางอาหารในเวเนซุเอลา

แฟ้มภาพเอพี

เวเนซุเอลา ที่เคยร่ำรวยจากการค้าน้ำมัน เป็นสินค้าส่งออกหลัก แต่หลังจากประเทศจมอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง เผชิญเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรัง เงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าล้านเปอร์เซ็นต์ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ทุกข์หนักตกอยู่ที่ประชาชนตาดำๆ ที่จนถึงขณะนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

ดูได้จากรายงานปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศเวเนซุเอลา ที่โครงการอาหารโลก(ดับเบิลยูเอฟพี) ภายใต้สหประชาชาติ(ยูเอ็น) เข้าไปสำรวจศึกษาและเปิดเผยรายงานเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ชี้ว่า 1 ใน 3 ของชาวเวเนซุเอลากำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตนเองได้รับสารอาหารจำเป็นให้ได้อย่างน้อยตามเกณฑ์ที่ร่างกายต้องการ ด้วยการอาศัยกินหัวมันหัวพืชและเมล็ดถั่วต่างๆ ประทังชีวิตแทน เพราะเงินเดือนของพวกเขาส่วนใหญ่แทบจะไร้ค่า หาซื้ออะไรไม่ค่อยได้เพราะเงินเฟ้อสูง ทำสินค้าราคาพุ่ง

โดยในขณะที่นิยามของคำว่า ความไม่มั่นคงทางอาหาร หมายถึงการไม่สามารถได้รับอาหารตามหลักโภชนาการพื้นฐานที่ร่างกายต้องการได้นั้น มีชาวเวเนซุอเลามากถึงราว 9.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางหรือในระดับรุนแรง

ผลการศึกษาของดับเบิลยูเอฟพียังพบว่า ครอบครัวชาวเวเนซุเอลาร้อยละ 74 ได้พยายามหาทางปรับตัวรับมือกับปัญหานี้ เช่น การลดคุณภาพและความหลากหลายของอาหารที่ตนเองกินเพื่อยังชีพ

Advertisement

ร้อยละ 60 บอกว่าครอบครัวตนเองเลือกที่จะลดขนาดอาหารในแต่ละมื้อลง ร้อยละ 33 บอกว่าเลือกที่จะขอรับอาหารแทนเงินค่าแรง และร้อยละ 20 บอกว่าพวกเขาต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อนำมาซื้อข้าวปลาอาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็น

ชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากยังประสบกับปัญหาซื้อหาอาหารไม่ได้ หรือมีวางขายแต่ก็ไม่สามารถซื้อได้ โดย 7 ใน 10 บอกว่ามีอาหารอาจมีวางขาย แต่พวกเขาไม่มีปัญญาซื้อเพราะราคาสูงเกินเงินในกระเป๋า

ขณะที่ร้อยละ 37 บอกว่าพวกเขาต้องกลายเป็นคนตกงาน หรือธุรกิจล้มไม่เป็นท่าผลจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว ทำให้ไม่มีกำลังซื้อ

นอกจากความไม่มั่นคงทางอาหารแล้ว ชาวเวเนซุเอลายังเผชิญกับความทุกข์ยากอื่นๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานจำเป็น อย่างไฟฟ้าแและน้ำประปา ที่ 4 ใน 10 ของภาคครัวเรือนในเวเนซุเอลาบอกว่า พวกเขาต้องเจอปัญหาไฟดับ น้ำประปาขาดเป็นประจำทุกวัน ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้การดำรงชีวิตในแต่ละวันยากลำบากขึ้นไปอีก

แคโรไลนา เฟอร์นันเดซ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มองว่าสถานการณ์ปัญหาในเวเนซุเอลาจะยิ่งเลวร้ายกว่านี้ เพราะแม้หลายครอบครัวซึ่งพึ่งพาเงินจากสมาชิกในครอบครัวที่ไปขายแรงงานในต่างประเทศ แล้วส่งกลับมาจุนเจือทางบ้านก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเธอเชื่อว่าปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในเวเนซุเอลานี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ ที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image