ด่วน ! “ศาลโลก” ประกาศตัดสินคดี “ทะเลจีนใต้” ระหว่างฟิลิปปินส์-จีน 12 ก.ค.นี้ ที่กรุงเฮก

Photograph from Merits Hearing - November 2015 - Hearing in Session

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration – PCA) ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีคำตัดสินคดีทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์ กับ จีน ในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2559/2016 เวลา 11.00 น. ณ กรุงเฮก โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556/2013 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยผ่านกลไก ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration – PCA) เพื่อฟ้องร้องจีนภายใต้บทบัญญัติของภาคผนวก 7 (Annex VII) ย่อหน้า 2 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ฉบับที่ 2 (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982 – UNCLOS II) ปี 2525/1982 โดย “อ้างถึงข้อพิพาทกับจีนเหนือเขตอำนาจในพื้นที่ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (with respect to the dispute with China over the maritime jurisdiction of the Philippines in the West Philippine Sea.)”

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556/2013 จีนได้ส่งสารบันทึกวาจา (Note Verbale) ว่าด้วย “ท่าทีของจีนในทะเลจีนใต้ (the Position of China on the South China Sea issues)” ไปยังฟิลิปปินส์ เพื่อปฏิเสธคำร้องของฟิลิปปินส์ โดยศาลประจำอนุญาโตตุลาการได้ดำเนินการรับคำร้องของฟิลิปปินส์เพื่อเข้าสู่ กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว และได้แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการจำนวน 5 คน ได้แก่ ทอมัส เอ. เมนซาห์ (Thomas A. Mensah) เป็นประธาน ฌอง-ปิแอร์ คอท (Jean-Pierre Cot) สแตนิชลอว์ พาวลัค (Stanislaw Pawlak) อัลเฟรด เอช. เอ. ซูนส์ (Alfred H. A. Soons) และ รุดดิเจอร์ วอลฟรุม (Rüdiger Wolfrum)

และฝ่ายฟิลิปปินส์ได้แต่งตั้งผู้แทน (agent) ตามขั้นตอนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ฝ่ายจีนยังไม่มีท่าทีที่จะแต่งตั้งผู้แทนของฝ่ายตนแต่อย่างใด โดยในสารบันทึกวาจา (Note Verbale) ของจีน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556/2013 จีนได้ย้ำว่า “จุดยืนของฝ่ายจีนคือการไม่ยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ฟิลิปปินส์ เริ่มขึ้น”

ล่าสุด ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration – PCA) ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีคำตัดสินในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2559/2016 เวลา 11.00 น. ณ กรุงเฮก

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่นักวิชาการในแวดวงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image