คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: สงครามกฎหมายใน’ทะเลจีนใต้’

ใกล้กำหนดที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (พีซีเอ) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อ่านคำพิพากษาชี้ขาดบางส่วนตามคำร้องของฟิลิปปินส์ ในหลายๆ หัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดก็ยิ่งเขม็งเกลียวมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะจากทางฝ่ายจีน ซึ่งดูเป็นกังวลกับผลลัพธ์ของสงครามทางกฎหมายครั้งนี้มากกว่าฝ่ายที่ยื่นคำร้องอยู่มาก

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนั้นถือเป็นหนึ่งในช่องทางหาข้อยุติปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับข้อบัญญัติต่างๆ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ยูเอ็นคลอส ตามที่มีการบัญญัติไว้ในข้อ (หรือมาตรา) 287 ในภาคผนวก 3 ของอนุสัญญาฉบับนี้

องค์คณะของศาล ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางทะเลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติ 5 คน ทำหน้าที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาในกรณีนี้ กระบวนการทางศาลดำเนินไปในครรลองเดียวกันกับศาลระหว่างประเทศทั่วไป สามารถเทียบเคียงได้กับการตัดสินกรณีพิพาทดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อไม่นานมานี้

ทางการฟิลิปปินส์ริเริ่มการดำเนินคดีนี้เมื่อปี 2013 ด้วยการยื่นบันทึกคดีที่เป็นเอกสารจำนวนมาก ความหนารวมกันไม่น้อยกว่า 4,000 หน้า กระบวนการทางศาลอาจยืดเยื้อมากกว่านี้ แต่เนื่องจากจีนไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการของศาล โดยอ้างว่ากรณีพิพาทดังกล่าวอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของศาลพีซีเอ เนื่องจากการดำเนินการของฟิลิปปินส์ไม่สอดคล้องกับข้อบัญญัติในส่วนที่ว่า จำเป็นต้องเจรจาทวิภาคีให้ถึงที่สุดและเชื่อว่าหมดหนทางที่จะแก้ปัญหาด้วยการเจรจาแล้วเท่านั้น

Advertisement

เมื่ออยู่นอกขอบเขตอำนาจศาล ก็ไม่มีสิทธิในการวินิจฉัย จีนจึงไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ เมื่อไม่มีคู่กรณีร่วมอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล

จีนจึงถือว่า คำพิพากษาใดๆ อันเกิดจากกระบวนการทั้งหมดครั้งนี้ไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงไม่ขอยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาใดๆ ตามมาตรา 298 ของอนุสัญญา

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายของจีนดังกล่าวนี้ องค์คณะของพีซีเอได้วินิจฉัยออกมาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2015 ว่า ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยคำร้องและสามารถชี้ขาดประเด็นต่างๆ ตามคำขอของฟิลิปปินส์ได้เกือบครึ่งหนึ่งของประเด็นทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็พักไว้เพื่อรอการตรวจสอบต่อเนื่องจากหลักฐานของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กล่าวคือรอการตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการทางศาลของจีนต่อไป

ศาลเห็นว่าคำร้องบางประเด็นของทางฟิลิปปินส์สามารถกระทำได้ฝ่ายเดียว และการวินิจฉัยในประเด็นเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นการรอนสิทธิของคู่กรณี หรือบั่นทอนความชอบธรรมและความเป็นธรรมของศาล และการที่จีนไม่ได้เข้าสู่กระบวนการก็ไม่ได้กระทบต่อขอบเขตอำนาจศาล

ศาลยกตัวอย่างของประเด็นดังกล่าวไว้ว่า เช่น คำร้องของฟิลิปปินส์ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในหลายประเด็นปัญหาว่าด้วย “คุณลักษณะโดยธรรมชาติ” ของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในกรณีพิพาทว่า จัดอยู่ในนิยามใดในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล อาทิ เป็นเกาะ หรือโขดหิน, แนวปะการัง, พื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด (โลว์ ไทด์ เอเลเวชั่น) หรือเป็นหาดใต้น้ำ (ซับเมิร์จด์ แบงก์)

เนื่องเพราะสิทธิเหนือสิ่งดังกล่าวแต่ละลักษณะถูกกำหนดไว้ในยูเอ็นคลอส (ข้อ 121 ในยูเอ็นคลอส) แตกต่างกันออกไป เช่น เกาะ สามารถมี “ทะเลอาณาเขต” และ “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ” โดยรอบได้ ในขณะที่ซับเมิร์จด์ แบงก์ หรือพื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลดไม่สามารถมีสิทธิดังกล่าว

เมื่อสามารถวินิจฉัยคุณลักษณะโดยธรรมชาติดังกล่าวได้ก็สามารถวินิจฉัยได้เช่นกันว่า การกระทำเชิงรุกของจีนต่อฟิลิปปินส์ในบางกรณี อย่างเช่นการแสดงความก้าวร้าวโดยกำลังทางทหารต่อเรือของฟิลิปปินส์ที่อยู่ใกล้สการ์โบโร โชล (สันทรายใต้น้ำสการ์โบโร) และที่ เซกันด์ โธมัส โชล (สันทรายใต้น้ำเซกันด์ โธมัส) หรือการถมทะเลสร้างเกาะเทียมของจีนใกล้กับพื้นที่บริเวณทั้้งสองจุดนั้นถูกต้องและมีข้อกฎหมายทางทะเลรองรับหรือไม่

แต่ศาลไม่สามารถวินิจฉัยเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนรวมไปถึงกรณีการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ราว 90% ของทะเลจีนใต้ของจีนที่ใช้ข้ออ้างเป็น “สิทธิทางประวัติศาสตร์” ว่าเป็นดินแดนของตน ซึ่งยังจำเป็นต้องรอให้จีนตัดสินใจเข้าร่วมในกระบวนการทางศาล ตามข้อ 5 ในภาคผนวก 3 ของอนุสัญญาก่อนที่จะวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป

ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ในส่วนของการยังไม่ดำเนินการเจรจาเพื่อหาทางออกจนถึงที่สุดนั้น คำวินิจฉัยของศาลระบุว่า กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดว่า รัฐจำเป็นต้องดำเนินการเจรจาต่อเนื่องต่อไปในเมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่า ความเป็นไปได้ในการหาทางออกด้วยการเจรจานั้น “เป็นไปไม่ได้แล้ว”

ดังนั้น พีซีเอจึงเห็นว่าศาลมีทั้งอำนาจและความชอบธรรมในการวินิจฉัยคดีนี้บางส่วน ซึ่งกำหนดจะแถลงผลการวินิจฉัยในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ในเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 16.00 น. ตามเวลาไทย

ผู้สันทัดกรณีทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศเห็นพ้องกันว่า เพียงแค่คำวินิจฉัยในประเด็นว่าด้วยอำนาจและความชอบธรรมของศาลดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นชัยชนะในการต่อสู้ด้วยกฎหมายครั้งสำคัญของฟิลิปปินส์แล้ว แม้ว่าข้อวินิจฉัยดังกล่าวเหล่านั้นไม่ได้เป็นการชี้ขาดชัดเจนว่าฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะ แต่บอกให้รู้ว่าจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในข้อโต้แย้งทางกฎหมายทั้งหมด และไม่สามารถอ้างสิทธิไม่ยอมรับคำพิพากษาตามบทบัญญัติของอนุสัญญาได้อีกด้วย

สำคัญยิ่งกว่านั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลผูกพันที่สำคัญต่อเนื่องไปในอนาคตในหลายกรณีอีกต่างหาก

ในเบื้องต้น คำวินิจฉัยดังกล่าวหักล้างข้อโต้แย้งทางกฎหมายของจีนในคดีนี้ให้ตกไปทั้งหมด ซึ่งในอีกทางหนึ่งแสดงให้เห็นว่า “คู่กรณี” ทั้งหลายของจีนที่มีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนอยู่ในทะเลจีนใต้ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด, เวียดนามที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และหมู่เกาะพาราเซล, มาเลเซียที่อ้างสิทธิเหนือเกาะบางเกาะในหมู่เกาะสแปรตลีย์, บรูไน ที่อ้างสิทธิเหนือแนวปะการังลุยซาและแนวปะการังไรเฟิลแมน ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ รวมไปถึงอินโดนีเซียที่เห็นว่าการอ้างสิทธิตามแนวเส้นประ 9 เส้นของจีนนั้นละเมิดน่านน้ำบางส่วนของตน

สามารถนำแนวทางการต่อสู้ด้วยกฎหมายระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์มาดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อกดดันให้ทางการจีนยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามได้ทั้งสิ้น

นักวิชาการด้านกฎหมายทะเลบางคนเชื่อว่า กรณีนี้อาจกลายเป็นชนวนให้เกิดสงคราม “คดีต่อเนื่อง” เกิดขึ้นอีกหลายกรณี

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน อาจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอลาซาล ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ชี้ให้เห็นว่า มีอย่างน้อย 2 ประเทศที่แสดงท่าทีออกมาทำนองดังกล่าว ประเทศแรกก็คือ อินโดนีเซีย ที่เดิมเคยวางตัวเป็นกลางก็กำลังใกล้ที่จะยกเลิกสถานะดังกล่าวของตนอยู่เต็มแก่ อีกประเทศหนึ่งคือ เวียดนาม ที่ไม่เพียงทวีความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้นเพราะแรงผลักดันจากความขัดแย้งนี้ก็แสดงท่าทีออกมาแล้วว่าจะดำเนินการแบบเดียวกันกับฟิลิปปินส์

หากจีนยังคงเดินหน้าอาศัยความได้เปรียบทางด้านทหารกดดันและคุกคามเวียดนามอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกเหนือจากข้อสังเกตข้างต้นแล้ว ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่คาดหมายว่า ผลการพิจารณาคดีของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีต่อฟิลิปปินส์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะส่งผลบวกมหาศาลให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในการเจรจาหรือในกรณีที่เกิดความขัดแย้งใดๆ ขึ้นอีกในอนาคต ทำให้มีอำนาจต่อรองมหาศาลเหนือทางการจีน

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์ ภายใต้การนำของโรดริโก ดูแตร์เต ที่แสดงตัวชัดเจนว่านิยมจีน กังขาอเมริกัน อาจแสดงท่าทีประนีประนอมโดยการรับปากว่าจะไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากคำพิพากษา ด้วยการถือว่าคำพิพากษาเป็นเพียง “ความเห็นเชิงแนะนำ” ทั้งๆ ที่สถานะจริงๆ เป็นคำพิพากษาที่มีผลบังคับตามกฎหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยินยอมอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายๆ อย่างจากทางการจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ อาทิ การไม่ดำเนินการใดๆ ต่อชาวประมงฟิลิปปินส์ การเปิดน่านน้ำพิพาทให้เรือของทั้งสองฝ่ายผ่านไปมาได้โดยเสรี เรื่อยไปจนถึงการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลด้วยกัน เป็นต้น

ในกรณีนี้ผลประโยชน์ที่จีนจะได้รับก็คือ การไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอนหากรัฐบาลฟิลิปปินส์อาศัยคำพิพากษามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาแรงสนับสนุนจากทั่วทั้งโลก สร้างภาพลักษณ์มหาอำนาจที่ใช้พลานุภาพทางทหารเพื่อความทะเยอทะยานในภูมิภาคด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับจีน ฯลฯ

จนถึงขณะนี้ไม่เพียงสหรัฐเท่านั้นที่แสดงท่าทีสนับสนุนฟิลิปปินส์ในกรณีการต่อสู้ทางกฎหมายกับจีนในครั้งนี้ หากแต่กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือจี7 รวมทั้งประเทศอย่างออสเตรเลีย ก็แสดงท่าทีเห็นพ้องกับการดำเนินการของฟิลิปปินส์เช่นเดียวกัน

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ ผลลัพธ์ของคดีนี้ไม่เพียงยังประโยชน์ให้กับฟิลิปปินส์และประเทศคู่กรณีกับจีนอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นพื้นฐานทางกฎหมายรองรับปฏิบัติการ “การแสดงออกถึงเสรีภาพในการเดินเรือ” หรือ “โฟนอปส์” ไม่เพียงเฉพาะสหรัฐ แต่ยังมีกองเรือของญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่ต้องการแสดงออกเพื่อกดดันให้จีนเปลี่ยนท่าทีของตนเองในทะเลจีนใต้ได้อีกด้วย

ในส่วนของจีน ผู้รู้ส่วนใหญ่เชื่อว่าท่าทีของจีนต่อคำพิพากษาที่น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์นั้น น่าจะเป็นการวางเฉย และใช้วิธีการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นกรณีๆ ไป มากกว่าที่จะแสดงท่าทีก้าวร้าวคุกคามอย่างอื่นออกมา เหมือนอย่างที่จีนพยายามแสดงออก “อย่างไม่เป็นทางการ” ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดวันแถลงคำวินิจฉัย ตั้งแต่การเตือนให้ระวังการปะทะ เรื่อยไปจนถึงการลุกขึ้นมาซ้อมรบทางเรือในทะเลจีนใต้ เป็นต้น

เหตุผลเพราะทางเลือกอื่นที่เหลืออยู่ เสี่ยงต่อการทำให้ความขัดแย้งที่ตึงเครียดอยู่แล้ว ลุกลามกลายเป็นการปะทะกันด้วยกำลังได้ง่ายและทุกเวลา

หลังจากการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image