รายงานพิเศษ : บัวแก้วสัญจร เยือนบุรีรัมย์-ชัยภูมิ (1)

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะ “บัวแก้วสัญจร” เดินทางเยือนบุรีรัมย์และชัยภูมิ ซึ่งเป็นสองจังหวัดในภาคอีสานที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย คณะบัวแก้วสัญจรเริ่มต้นภารกิจที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งใครต่อใครก็ออกปากว่ามีการพัฒนาไปมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระทั่งคนเรียกขานบุรีรัมย์ในปัจจุบันว่าเป็น “เมืองปราสาทสองยุค” ซึ่งก็คือยุคของปราสาทหินทั้งอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ กับยุคของทีมปราสาทสายฟ้าหรือทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ทีมฟุตบอลคู่บ้านคู่เมืองที่กวาดแชมป์ทุกถ้วยไปเมื่อปีก่อน

ในฐานะที่ไม่ได้ไปเยือนบุรีรัมย์มาหลายปี เมื่อได้กลับไปเห็นอีกครั้งก็ต้องยอมรับว่าบุรีรัมย์ในวันนี้ต่างจากในอดีตมาก จากเมืองชายแดนที่ดูจะไม่ค่อยมีอะไรมากนัก วันนี้ในสายตาคนภายนอก บุรีรัมย์ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ชูกีฬาเป็นธงนำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ทีมฟุตบอลปราสาทสายฟ้า แต่ยังรวมถึงสนามแข่งรถที่มีชื่อว่าสนามบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิตที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน วันที่ไปถึงมีการแข่งฟุตบอลระหว่างทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับทีมเชียงราย ยูไนเต็ด จึงได้เห็นบรรยากาศที่คนทั่วเมืองใจจดใจจ่อกับการเชียร์ทีมโปรดท่ามกลางสายฝนที่เทลงมาอย่างไม่ปรานีปราศรัย แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนบุรีรัมย์ถอดใจจากการลุ้นให้ทีมของตนเองคว้าชัยในบ้านไปได้ในที่สุด

ธุรกิจด้านกีฬาที่เฟื่องฟูยังทำให้ธุรกิจต่อเนื่องทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ของกินของฝากพากันเติบโตตามไปด้วย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจเพียงอย่างเดียวในบุรีรัมย์ เพราะท่ามกลางการเปิดรับกระแสโลกยุคใหม่แบบเต็มตัว บุรีรัมย์ก็ยังคงไม่ทิ้งคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งก็คือการทอผ้าตั้งแต่ผ้าทอจาก อ.นาโพธิ์และ อ.พุทไธสงรวมถึงผ้าภูอัคนีของ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นผ้าที่ย้อมด้วยดินภูเขาไฟจากเขาพระอังคาร ซึ่งเป็น1 ในภูเขาไฟ 6 ลูกที่ดับแล้วในบุรีรัมย์ ที่ถือเป็นงานฝีมือและของฝากขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของจังหวัด

คณะบัวแก้วสัญจรได้แวะไปเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ และได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณยาย ประคอง ภาสะฐิติ หัวหน้าศูนย์ฯทำให้ได้ความรู้ว่า เอกลักษณ์ของผ้าไหมนาโพธิ์คือเป็นผ้าที่ทอขึ้นจากไหมที่ชาวบ้านเลี้ยงเองและทอเอง ไหมนาโพธิ์เป็นไหมเส้นใหญ่ สีไม่วาว และยิ่งใช้นานจะยิ่งนุ่ม ส่วนลวดลายที่ทำนั้นก็มีตั้งแต่ลายผ้าโบราณที่อนุรักษ์ไว้ เช่นลายนาค ซึ่งเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาลายโบราณมาเปลี่ยนแปลงใหม่ ไปจนถึงการออกแบบลายใหม่ๆ ขึ้นเองของผู้ทอ โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดงที่ขึ้นชื่อจนได้รับตราจีไอ หรือตราสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะยืนยันถึงความเป็นเอกลักษณ์แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าซิ่นตีนแดงของชาวนาโพธิ์อีกด้วย

Advertisement

ปัจจุบันรายได้จากการทอผ้าถือเป็นรายได้หลักของกลุ่มสตรีใน อ.นาโพธิ์ซึ่งว่ากันว่าทำรายได้ถึงหลักสิบล้านบาทต่อปีไม่น่าเชื่อว่าความเข้มแข็งที่เห็นของกลุ่มสตรีในนาโพธิ์ในปัจจุบันจะเริ่มต้นจากการตั้งกลุ่มสตรีขึ้นเมื่อปี 2516 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับเป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ กระทั่งมีการก่อตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์เมื่อปี 2542 เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมผ้าไหมที่ชาวบ้านในท้องที่ทอขึ้นในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาไปออกขาย คุณยายประคองให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านกว่า 200 คนที่นำงานมาฝากให้ทางศูนย์ช่วยขาย โดยงานทอผ้าของชาวบ้านในนาโพธิ์ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อประดับ 5 ดาว และยังได้รับพระราชทานตรายูงทอง ซึ่งเป็นตรานกยูงพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพของผ้าไหมไทยอีกด้วย

ระหว่างพูดคุยกับท่านผู้ว่าฯ เสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ท่านผู้ว่าฯได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางการเผยแพร่ข่าวสารหรือสิ่งดีๆ ในบุรีรัมย์ว่าเป็นเสมือนการสร้างเจดีย์ซึ่งต้องเริ่มต้นที่ฐานก่อน ดังนั้นทุกๆ อย่างต้องเริ่มขึ้นมาจากหมู่บ้านและชุมชนก่อนที่จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานของจังหวัด ในปี 2558 ที่ผ่านมา บุรีรัมย์เป็น 1 ในเมืองที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้เป็น เมือง “ต้องห้ามพลาด” ซึ่งคำว่า “เมืองปราสาทสองยุค” ก็มาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงการนี้นั่นเอง ไม่เพียงแต่ทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดที่เป็นที่โดดเด่น แต่ยังมีสนามแข่งรถที่ได้มาตรฐานโลกซึ่งมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทยอีกด้วย

เสรี ศรีหะไตร
เสรี ศรีหะไตร

ท่านผู้ว่าฯเสรียังได้ประกาศแนวทาง “บุรีรัมย์สันติสุข 9 ดี” ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านและชุมชนมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ประกอบด้วย ดีที่ 1 เป็นคนดี ดีที่ 2 มีปัญญา ดีที่ 3 ราย

Advertisement

ได้สมดุล ดีที่ 4 สุขภาพแข็งแรง ดีที่ 5 สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ ดีที่ 6 สังคมอบอุ่น ดีที่ 7 หลุดพ้นอาชญากรรม ดีที่ 8 กองทุนพึ่งพาตนเอง และดีที่ 9 สร้างความเข้มแข็งกรรมการหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการกำหนด “ธรรมนูญหมู่บ้านสันติสุข 9 ดี” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การวางแผนเพื่อการพัฒนาจังหวัดที่วางไว้ แนวทางดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของบุรีรัมย์ ซึ่งก็สะท้อนสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯเสรีพูดไว้ว่าทั้งหมดต้องเริ่มจากการสร้างฐานเจดีย์นั่นเอง

ท่านผู้ว่าฯเสรียังให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันการทำตลาดโดยใช้กีฬามาเสริมแบรนด์ให้เข้มแข็งขึ้นหรือ Sport Marketing อย่างที่เกิดขึ้นในบุรีรัมย์มันไม่ใช่เรื่องของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ประเทศไทยควรต้องพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดความเติบโตต่อเนื่องต่อไปอีก ด้วยการผลักดันให้ไทยกลายเป็นสนามแข่งหลักในเวิลด์ซีรีส์ซึ่งต้องมีการลงแข่งเป็นประจำทุกปี ซึ่งทำได้ตั้งแต่สนามแข่งรถ สนามกอล์ฟ ไปจนถึงสนามแข่งขันวอลเลย์บอล และมองไปข้างหน้าแบบองค์รวม ไม่ใช่มองแบบแยกส่วน

เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ท่านผู้ว่าฯเสรีกล่าวว่า บุรีรัมย์มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ดังนั้นความผูกพันกันจึงเกิดขึ้นอยู่แล้ว ในส่วนของอีก 8 ประเทศสมาชิกก็มีความรับรู้และเผยแพร่ข่าวสารผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าการรวมตัวของประชาคมอาเซียนควรทำให้เข้มข้นกว่านี้ เพราะปัจจุบันที่เราระบุในกฎบัตรอาเซียนว่าอาเซียนเป็นประชาคมเดียวกัน หรือ One Community ควรเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดียวกัน หรือ One Family จะดีกว่า เพราะคำว่าประชาคมเดียวกันเปรียบเหมือนมีบ้าน 10 หลังอยู่ด้วยกันซึ่งยังเกิดรอยแยกระหว่างประเทศ มีการเอาเปรียบกัน และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเรามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการสร้างความผูกพันกันด้วยมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่า

 

คุณยายประคองและผ้าซิ่นตีนแดง

ขณะที่หากมองไปในอนาคต การรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ ในโลกจะมีอยู่ไม่เกิน 10 กลุ่ม อาทิ สหภาพยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียน แต่ปัญหาต่างๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องภัยธรรมชาติ การสู้รบต่างๆ เช่นเดียวกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการเพิ่มขึ้นของประชากรในโลก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่าอาหารจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะสูงขึ้นเพียงไร ที่สุดคนก็ต้องกิน ซึ่งหากมองตามนี้แล้วจะเห็นว่าในอนาคตอาเซียนจะเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการเป็นแหล่งอาหารให้กับโลก ดังนั้น อาเซียนจึงต้องผนึกกำลังกันให้ได้และต้องมองอนาคตในฐานะครอบครัวเดียวกัน แทนที่จะมองกันแบบแยกส่วนคนละประเทศเช่นในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image