คอลัมน์ Think Tank : ซูดานใต้ สันติภาพบนกระดาษ ความขัดแย้งในพื้นที่จริง

AFP PHOTO / STR

ซูดานใต้เพิ่งจะครบรอบ 5 ปีของการได้รับเอกราชไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่สันติภาพยังคงติดขัด ความรุนแรงยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง และภาวะอดอยากรุนแรงมากกว่าที่เคยเป็นมา

มีผู้คนหลายหมื่นเสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาในประเทศใหม่ที่สุดของโลกแห่งนี้ และความขัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไปแม้จะมีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพแล้วก็ตาม

ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นมาจากกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีซัลวา เคียร์ และรีก มาชาร์ อดีตคู่แข่งที่กลายมาเป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งแม้ความเข้มข้นของการสู้รบทั่วประเทศจะเบาบางลง แต่ยังคงมีการปะทะกันเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกิดการต่อสู้ปะทุขึ้นที่วาว เมืองใหญ่อันดับ 2 ประเทศ บอร์ และเบนชิว มีการเผาทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง ส่งผลให้ผู้คนราว 88,000 คน ต้องหลบหนีออกมาเพราะไร้ที่อยู่อาศัย โดยมีเพียงเกือบ 20,000 คนเท่านั้นที่ได้อยู่ในที่พักชั่วคราวข้างสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

Advertisement

ยูจีน โอวูซู ผู้อำนวยการด้านการช่วยเหลือซูดานใต้ของยูเอ็น เปิดเผยว่า รู้สึก “ตกตะลึงสุดขีด” เมื่อได้เห็นสถานการณ์ในเมืองต่างๆ ที่มีศพของผู้คนกองทับกันอยู่ตามถนน ซึ่งเขาบอกว่าเป็น “ความรุนแรงที่น่าสยดสยอง”

นายพลมอลลา ไฮเลมาเรียม ของเอธิโอเปีย ที่เป็นผู้นำคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติสนับสนุนการหยุดยิง บอกว่ารู้สึก “เป็นกังวลอย่างมาก” ต่อการสู้รบเมื่อไม่นานนี้ และ “ความก้าวหน้าที่จำกัด” ของข้อตกลงสันติภาพ

ทั้งสองฝ่ายยังคงตกลงกันไม่ได้ในเรื่องว่าจะให้กองกำลังทั้งหมดของฝ่ายตนมารวมกันอยู่ที่ไหน และค่ายทหารใดที่จะใช้สำหรับส่งมอบอาวุธทั้งหมด รวมถึงการแบ่งรัฐในการปกครอง อีกทั้งคณะเจรจาหยุดยิงยังคงถูกสกัดกั้นไม่ให้เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่สำคัญของทั้ง 2 ฝ่ายด้วย

Advertisement

ยูเอ็นเตือนว่ามีผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารเพื่อไม่ให้อดตายมากถึง 5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ มีมากกว่า 2 ล้านคน ที่ต้องระเห็จจากที่พักอาศัยนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น ในจำนวนนี้มากกว่า 700,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

รายงานขององค์การจำแนกระดับความมั่นคงทางอาหารแบบองค์รวม (ไอพีซี) ระบุว่า สถานการณ์ความอดอยากในรัฐบาห์ร เอล กาซาล ร้ายแรงถึงระดับสูงสุด คือ “ระดับ 5” หรือ “หายนะ” แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประกาศภาวะอดอยากอย่างเป็นทางการ เนื่องจากในทางเทคนิคแล้วต้องมีประชากร 1 ใน 5 ของประเทศประสบกับปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้เศรษฐกิจของซูดานใต้ยังล่มสลายด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เกือบ 300 เปอร์เซ็นต์ และค่าเงินปีนี้ร่วงลง 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะสงครามการคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง และอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศยังใกล้พังทลายเต็มที

เรียกว่าหนทางยังคงมืดมน ไม่สวยหรูเหมือนที่วาดไว้บนกระดาษ สำหรับประเทศน้องใหม่ที่สุดของโลกแห่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image