คอลัมน์ ไฮไลต์โลก : เหยื่อนิคมฯแกซอง

AFP PHOTO

คาบสมุทรเกาหลี เป็นอีกพื้นที่ขัดแย้งที่มีความอ่อนไหวยิ่งจากการเปิดศึกสายเลือดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ การขยับตัวกระทบกระทั่งกันทีของสองชาติ ก็ดูจะสะเทือนไปทั้งภูมิภาค

เหตุพิพาทล่าสุดที่ปูมาตั้งแต่ต้นปีจากการดึงดันทดสอบนิวเคลียร์ท้าทายประชาคมโลกของเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีเหนือต้องเผชิญผลกรรมที่ตัวเองกระทำ เป็นมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ รวมถึงเกาหลีใต้ คู่กรณีหลักที่ยังตอบโต้ด้วยการสั่งปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งเป็นผลิตผลของนโยบายอาทิตย์ส่องแสงสมัยอดีตประธานาธิบดีคิม แด จุง แห่งทำเนียบสีน้ำเงิน ที่ทำให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองโสมขึ้นมา

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่น่าเห็นใจยิ่ง เพราะดูจะกระอักเลือดหนักสุด คือกลุ่มนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ที่เทเงินตรงหน้าตักเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ 5 เดือนมาแล้วที่นิคมฯแกซองยังกลายดินแดนต้องห้ามสำหรับนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ ที่จะเดินทางเข้าไปดูโรงงานและสินทรัพย์ของตนเองที่อยู่ในนิคมฯแห่งนี้ว่าเป็นอย่างไรก็ไม่ได้ นั่นยังไม่นับรวมความเสียหายมูลค่ามหาศาลจากการผลิตที่ต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย

อย่างที่เกริ่นมานิคมอุตสาหกรรมแกซอง ซึ่งมีรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นฝ่ายสนับสนุนหลักทางการเงิน นับตั้งแต่เปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี 2547 ในยุคเฟื่องฟูที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองโสมราบรื่นหน่อย มีโรงงานของนักลงทุนชาวเกาหลีใต้เข้าไปตั้งฐานการผลิตถึง 124 แห่ง และทำให้เกิดการจ้างงานชาวเกาหลีเหนือราว 53,000 คน แต่ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่สะวิงไปมาโดยตลอด ก่อนจะก้าวมาถึงจุดวิกฤตสุดคือช่วงต้นปีนี้ที่เกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 4 ในเดือนมกราคม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์เกาหลีใต้สั่งปิดนิคมฯแกซองเป็นการตอบโต้ และวันรุ่งขึ้นเกาหลีเหนือสวนกลับทันควันด้วยการเนรเทศผู้จัดการโรงงานชาวเกาหลีใต้ในนิคมฯแกซองออกไปทั้งหมด พร้อมสั่งยึดทรัพย์สินของนักลงทุนชาวเกาหลีใต้ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน วัตถุดิบ และสินค้าที่ผลิตเรียบร้อยแล้วซึ่งมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์

Advertisement

จอง กี-ซบ ซีอีโอของบริษัท เอสแอนด์จี ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าชาวเกาหลีใต้ ซึ่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทั้งหมดของบริษัทไปยังนิคมฯแกซองตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 10,000 ล้านวอน (ราว 300 ล้านบาท) พรั่งพรูถึงชะตากรรมอันเลวร้ายที่ตนเองประสบจากพิษความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองโสมว่า หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพร่ำแต่ชมการทำงานของกลุ่มนักลงทุนที่ยอมเป็นแนวหน้าของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองชาติ และรัฐบาลยังรับปากที่จะปกป้องพวกเขาโดยไม่คำนึงถึงเรื่องการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร แต่พอเกิดปัญหาตึงเครียดขึ้นมา กลุ่มนักลงทุนในนิคมฯแกซองมักจะต้องโดนหางเลขจากพิษความขัดแย้งนั้นเข้าไปเต็มๆ

เมื่อต้นมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มนักธุรกิจนักลงทุนชาวเกาหลีใต้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมเปิดทางให้พวกเขาได้เข้าไปตรวจดูโรงงานใน

นิคมฯแกซองบ้างว่าเป็นอย่างไรแล้ว แต่ถูกกระทรวงรวมชาติปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะประชาคมโลกกำลังร่วมกันคว่ำบาตรเพื่อกดดันเกาหลีเหนือให้ปลดนิวเคลียร์

Advertisement

เมื่อร้องเรียนดีๆ ไม่ได้ผล ก็ต้องอาศัยกระแสสังคมเข้าช่วย ตอนนี้บรรดานักธุรกิจนักลงทุนบอกว่าพวกเขากำลังวางแผนจะออกมารณรงค์เคลื่อนไหวในทุกช่องทางที่มี ทั้งการเคลื่อนไหวบนท้องถนนและการชุมนุมประท้วง เพื่อกดดันให้มีการเปิดนิคมฯแกซองและให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งหมด

ก็ไม่รู้ว่ากระแสสังคมจะแรงพอให้ฝ่ายการเมืองยอมรับปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้ได้จริงหรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image