มาตรการ ‘เยียวยา’ ทั่วโลก อัดเม็ดเงินสู้ ‘โควิด-19’

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยังคงลุกลามอย่างหนักและแพร่ระบาดไปทั่วโลก ขณะที่จำนวนผู้ป่วยในจีนเริ่มทรงตัว แต่ในทวีปยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดแทนเมืองอู่ฮั่น ส่วนสหรัฐ กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วทุกมลรัฐ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อเร่งลดการระบาดให้เร็วที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามบังคับใช้กฎหมายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 64 ล้านล้านบาท หลังร่างกฎหมายผ่านฉลุยทั้ง 2 สภา ทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนฯ เป็นเม็ดเงินใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ คิดเป็น 10.26% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

มีทั้งงบช่วยเหลือภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม เงินอัดฉีดก้อนโตอีก 290,000 ล้านดอลลาร์ จ่ายให้คนอเมริกันรายละ 1,200 ดอลลาร์ หรือ 38,400 บาท ที่มีรายได้ต่อปี ไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์ และให้เด็กอีกรายละ 500 ดอลลาร์ หรือ 16,000 บาท ยังมีงบพยุงธุรกิจเอสเอ็มอี ช่วยเหลือคนตกงาน

รวมทั้งการสนับสนุนระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลทั้งหมด

Advertisement

ส่วนมาตรการเยียวยาเพื่อใช้สู้กับสถานการณ์โควิดทั่วโลกนั้น “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เผยแพร่ข้อมูลเอาไว้ เป็นข้อมูลจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

เริ่มจาก เยอรมนี ประกาศหลักการและรายละเอียดบางส่วนของมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมประมาณ 13.5 พันล้านยูโร (คิดเป็น 0.4% ของ GDP เยอรมนี) โดยเมื่อ 23 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีมีชุดมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินกว่า 750 พันล้านยูโร ในเบื้องต้น ทำให้รัฐบาลเยอรมนีต้องก่อหนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556 และยอมผ่อนปรนการรักษาวินัยทางการคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบมาก

ฝรั่งเศส ประกาศมาตรการเพื่อเยียวยา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยรัฐสภา มูลค่ารวม 45 พันล้านยูโร คิดเป็น 2.0% ของ GDP ฝรั่งเศส มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินเป็นสำคัญ

อิตาลี ประกาศมาตรการเยียวยาผล กระทบเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 25 พันล้านยูโร คิดเป็น 1.4% ของ GDP อิตาลี เป็นมูลค่าเพิ่มเติมที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเดิมที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า (เมื่อวันที่ 2 และ 7 มี.ค.63) คาดว่าจะทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องออกพันธบัตร เพิ่มเติมประมาณ 6.35 พันล้านยูโร เพื่อ finance มาตรการครั้งนี้

ขณะที่ สเปน ประกาศมาตรการเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 32 พันล้านยูโร คิดเป็น 2.6% ของ GDP สเปน

ส่วนสหราชอาณาจักร ได้ประกาศใช้งบประมาณ 12 พันล้านปอนด์ เพื่อจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาด และได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มเติมมูลค่ารวม 350 พันล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วน 15% ของ GDP โดยเฉพาะมาตรการดูแล ครัวเรือนและการจ้างงาน รัฐบาลประกาศแผน “Statutory Sick Pay” จะจ่ายเงินชดเชยให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี พนักงานไม่เกิน 250 คน และให้กับผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักกันตนเองเพื่อรอดูอาการจะได้รับเงินชดเชยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และรัฐบาลประกาศแผน “Job Retention Scheme” จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับบริษัทที่ไม่ได้เลิกจ้างพนักงานสูงสุดถึง 80% หรือเดือนละ 2,500 ปอนด์ต่อคน ตั้งแต่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรืออาจมีการขยายเวลาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ลูกจ้างตกงาน

ทางด้าน ญี่ปุ่น รัฐบาลประกาศ Emergency response package มูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านเยน เพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใช้งบประมาณสำรองของปี 2563 ในส่วนมาตรการดูแล ครัวเรือนและการจ้างงาน รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ (permanent, non-permanent) สูงสุดถึง 8,330 เยนต่อวัน และให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างแบบ self-employed ที่ได้รับผลกระทบ 4,100 เยนต่อวัน นอกจากนั้น ให้ประชาชนกู้เงินฉุกเฉินได้คนละ 100,000-200,000 เยน ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และยังคืนเงินอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองภายหลังการปิดโรงเรียนจนถึงเดือนเมษายน

ออสเตรเลียเองก็ประกาศมาตรการมูลค่ารวม 83.7 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็น สัดส่วนประมาณ 4.3% ของ GDP

ประกอบด้วย ช่วง 1 และ 2 มูลค่า 17.6 และ 66.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ตามลำดับ

ในส่วนมาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน ให้เงินครัวเรือนที่เป็นผู้รับสวัสดิการรัฐ (เช่น ผู้รับบำนาญ) ครัวเรือนละ 750 ดอลลาร์ออสเตรเลีย จ่าย 2 ครั้ง ในเดือน มี.ค.และ ก.ค.2563 รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงานคนละ 1,100 ดอลลาร์ออสเตรเลีย จ่ายทุก 2 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 14.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

แวะมาดูรัฐบาลจีนที่ต่อสู้จนกำราบโรคระบาดโควิด-19 จนเบาบางลง

ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางจีน ปล่อยมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับมหภาคและมาตรการที่เน้นเฉพาะกลุ่ม รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ออกโดยรัฐบาลของแต่ละมณฑลจำนวนมากมาย ยกตัวอย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเมืองฝอซาน (เมืองหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง) อุดหนุนการซื้อรถ คันแรกเป็นเวลา 1 ปี เริ่ม 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วน รัฐบาลมณฑลชานตง ให้เงินสนับสนุน 12.7 พันล้านหยวน สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางและถนน ส่วนมาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงานนั้น กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมออกมาตรการดูแลเสถียรภาพ ตลาดแรงงาน อาทิ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการเลย์ออฟพนักงานน้อยว่า 5.5% จะได้รับการคืนภาษีจากค่าธรรมเนียมบางส่วนที่จ่ายในปีก่อน และให้เงินช่วยเหลือคนที่ตกงานในมณฑลที่ได้รับผลกระทบ และยังสนับสนุนให้จัดตั้งบริษัทหางานออนไลน์ที่มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 10 ล้านตำแหน่ง เพื่อจัดหางานระหว่างวันที่ 20 มี.ค.-30 มิ.ย.2563 เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ เป็นต้น

รัฐบาลฮ่องกง มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยงบประมาณรัฐปี 2563/64 ขาดดุลมากที่สุดตั้งแต่ปี 2545 ที่ 139 พันล้าน ดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็น 4.8% ของ GDP ปี 2562 และออกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง กับคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป

ฮ่องกงยังลดภาษีรายได้ของผู้มีรายได้ประจำ ยกเว้นค่าเช่าที่ที่เป็นสินทรัพย์ของรัฐบาล และยกเว้น ค่าธรรมเนียมค่าบริการการศึกษา เป็นต้น

ทางด้าน เกาหลีใต้ ประกาศนโยบายการ คลังมูลค่า 20.5 ล้านล้านวอน และใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากส่วน Supplementary Budget มูลค่า 8.5 ล้านล้านวอน รวมทั้งสิ้น 29.0 ล้านล้านวอน เพื่อลดผลกระทบของการระบาดและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมาตรการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีโดยตรง ในส่วนการดูแลครัวเรือน และการจ้างงาน ได้แจกจ่าย voucher เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนรายได้ต่ำเพื่อซื้อสินค้าท้องถิ่น เพิ่มเงินเดือน 20% แก่ผู้สูงอายุ (ในโครงการของรัฐบาล) หากรับเงินเดือน หรือ 30% ผ่าน local gift certificates แทน และการคืนเงินที่ใช้ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน 10% หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากประหยัดไฟ

สิงคโปร์ ประกาศมาตรการอัดฉีดเงินมูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แบ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจและการจ้างงาน 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และช่วยเหลือครัวเรือน 1.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมกับเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขอีก 800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีมาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงานมากมาย อาทิ พนักงานเอกชนที่ถูกสั่งให้กักตัวอยู่บ้านถือเป็นการลาป่วยพิเศษและได้รับเงินเดือน

ส่วนบุคลากรด้านการแพทย์ที่ต้องยกเลิกแผนการพักผ่อนและการท่องเที่ยว เพื่อรับมือโควิด-19 สามารถขอคืนเงินจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เต็มจำนวน ยังรวมถึงการจ่ายเงินให้ประชาชนตามเงื่อนไข ตั้งแต่ 100-300 ดอลลาร์สิงคโปร์

ทุกประเทศทุ่มสุดตัวเพื่อต่อสู้กับโควิดที่กำลังระบาด

รวมทั้งประเทศไทยที่การระบาดยังมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนยังไม่ทราบว่าจะยุติการระบาดนี้เมื่อใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image