กต.โต้ แอมเนสตี้ ยันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจัดการปัญหาโควิด-19 อย่างบูรณาการ

ตามที่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยแสดงความกังวลว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นมาตรการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และทันสถานการณ์ บนพื้นฐานคำแนะนำของผู้บริหารและนักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและทรัพยากรของรัฐด้านสาธารณสุข รัฐบาลจึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยได้กำหนดระยะเวลาบังคับเป็นการชั่วคราวอย่างชัดเจนคือ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 คือ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เท่านั้น และอาจขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน

และว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภัยคุกคามระบบสาธารณสุขในระดับโลก ประชาชนทั่วโลกได้รับผลกระทบ มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก หลายประเทศจึงจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือใช้มาตรการพิเศษในลักษณะเดียวกันในห้วงเวลานี้ เพื่อปกป้องชีวิตและสวัสดิภาพของพลเมือง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับแรก มาตรการใดๆ ที่อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนย่อมเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมและป้องกันความตื่นตระหนกจากการแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงและถูกบิดเบือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชน โดยมิได้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อแต่อย่างใด

โดยรัฐบาลได้กำหนดมาตรการตามหลักความสมควรแก่เหตุมาตลอด และพยายามหลีกเลี่ยงข้อกำหนดที่เกินความจำเป็น แต่โดยที่มาตรการในระยะแรกยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ตามเป้าหมาย และการติดเชื้อขยายในวงกว้างมากขึ้น จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น จำกัดการออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด โดยประเทศไทยยังยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพพื้นฐาน

ในยามนี้เป็นเวลาที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ประชาชนทุกคนและ ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้ เพราะมาตรการของภาครัฐย่อมไม่เป็นผลหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ กระทรวงการต่างประเทศจึงเชื่อว่าประชาชนและองค์กรต่างๆ รวมทั้ง Amnesty International จะเข้าใจสถานการณ์และสนับสนุนการดำเนินการเพื่อก้าวข้ามปัญหาท้าทายที่ประชาชนและรัฐบาลทั่วโลกประสบร่วมกันในครั้งนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image