คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ที่ไหนยังรอดเงื้อมมือโควิด-19?!

แฟ้มภาพ ตูวาลู (เอเอฟพี)

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ที่ไหนยังรอดเงื้อมมือโควิด-19?!

ยามนี้มองไปทางไหน จะเห็นว่าเกือบแทบจะทุกชาติในทั่วทุกมุมโลก ต่างกำลังกรำศึกสู้กับมหันตภัยร้ายจากฤทธิ์ไวรัสโควิด-19 ที่คร่ามนุษย์โลกไปแล้วมากกว่า 7.4 หมื่นราย และทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1.3 ล้านคน

หากถามว่าแล้วยังมีประเทศไหนในโลกที่ยังสามารถเล็ดลอดเงื้อมมือของไวรัสมฤตยูนี้ไปได้บ้างหรือไม่ ประเด็นนี้มีคำตอบที่สำนักข่าวบีบีซีอ้างอิงข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอพกินส์ ที่เก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกระบุว่า จนถึง ณ วันที่ 2 เมษายน 2563 มี 18 ประเทศในโลกที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ประเทศคอโมโรส, คิริบาส, เลโซโท, สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์, ไมโครนีเซีย, นาอูรู, เกาหลีเหนือ, ปาเลา, ซามัว, สาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี, หมู่เกาะโซโลมอน, ซูดานใต้, ทาจิกิสถาน, ตองกา, เติร์กเมนิสถาน, ตูวาลู, วานูอาตู และ เยเมน จาก 193 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)

ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าก็อาจเป็นไปได้ที่ประเทศที่ว่ามาข้างต้นอาจจะไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรืออาจไม่มีการรายงาน หรือ ไม่มีการตรวจหาเชื้อก็เลยไม่พบก็เป็นได้ แต่บางประเทศก็อาจจะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเกินไปจริงๆ จนเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปไม่ถึง

โดย 18 ประเทศที่ว่ามาล้วนเป็นประเทศเล็กๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศหมู่เกาะห่างไกล มีนักท่องเที่ยวเข้าถึงน้อย ในจำนวนนี้ 7 แห่งยังอยู่ใน 10 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนน้อยที่สุดในโลกด้วย นั่นเท่ากับว่า ประเทศเหล่านี้ทำการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)ในตัวเองไปโดยปริยาย

Advertisement

ทว่าผู้นำบางประเทศก็ไม่ได้ลดการ์ดป้องกันตนเองจากฤทธิ์โควิด-19 ก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว อย่างผู้นำนารูอู ชาติหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีประชากรเพียงแค่กว่าหมื่นคน มีเมืองใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุดคือ เมืองบริสเบนของออสเตรเลีย โดยอยู่ห่างออกไปราว 4,023 กม.และมีเที่ยวบินตรงถึงกัน ซึ่งในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเพียงแค่ 160 คนเท่านั้น

แต่ผู้นำนาอูรูถือเอาปัญหาโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินของชาติไปแล้ว แม้นาอูรูจะยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อก็ตาม โดยเมื่อกลางเดือนมีนาคม สายการบินนาอูรูได้ระงับเที่ยวบินไปยังชาติหมู่เกาะใกล้กันทั้งหมด และลดเที่ยวบินที่มีอยู่เส้นทางเดียวคือเมืองบริสเบน ลงจาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เหลือเที่ยวบินเดียวต่อ 2 สัปดาห์ และยังมีการสั่งการให้ผู้ที่เดินทางมาจากออสเตรเลียทั้งหมดต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันเมื่อมาถึง ภายใต้นโยบาย “จับและควบคุม” ของผู้นำนาอูรูที่บอกว่าจะสกัดกั้นทุกสิ่งอย่างไว้ที่ชายแดน เพื่อทำให้นาอูรูปลอดจากไวรัสโควิด-19

ไม่เพียงนาอูรู แต่คิริบาติ ตองกา วานูอาตู และชาติหมู่เกาะอื่นๆ ก็ทำในลักษณะเดียวกัน ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องแล้ว โดยประเทศหมู่เกาะเล็กๆเหล่านี้ จะพลาดเพียงก้าวเดียวไม่ได้ เพราะนั่นจะหมายถึงหายนะอันเลวร้ายที่จะตามมา เนื่องจากระบบสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับโรคระบาดใหญ่ได้

Advertisement

ขณะที่นักวิชาการบางรายเดิมพันว่าแม้จะอยู่ในดินแดนห่างไกลอย่างชาติหมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ แต่บางทีก็อาจจะไม่สามารถหลุดรอดเงื้อมมือของไวรัสโควิด-19 ไปได้ในยุคที่เศรษฐกิจการค้าโลกเชื่อมโยงถึงกันหมด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image