พบเชื้อ โควิด-19 กลายพันธุ์ในอินเดีย อาจทำให้วัคซีนที่พัฒนาตอนนี้ ไร้ความหมาย

(Photo by DOUGLAS MAGNO / AFP)

พบเชื้อ โควิด-19 กลายพันธุ์ในอินเดีย อาจทำให้วัคซีนที่พัฒนาตอนนี้ ไร้ความหมาย

โควิด-19 – หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (เอสซีเอ็มพี) รายงานเมื่อวันที่ 14 เมษายนนี้ว่า ทีมวิจัยของไต้หวันและออสเตรเลียตรวจสอบพบว่าเชื้อ โควิด-19 ในผู้ป่วยรายหนึ่งที่อินเดีย มีการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้การพัฒนาวัคซีนที่กำลังเร่งรีบกันอยู่ทั่วโลกในเวลานี้ไร้ความหมายไปในทันทีเพราะใช้ป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ได้ผล

งานวิจัยดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเผยแพร่ก่อนการตีพิมพ์ในเว็บไซต์ไบโอซิฟ และยังไม่มีการตรวจสอบจากเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน ดำเนินการโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติจางฮั่วของไต้หวันร่วมกับมหาวิทยาลัยเมอร์ดอคในประเทศออสเตรเลีย ระบุเอาไว้ว่า การกลายพันธุ์ที่ตรวจพบนี้เป็นการกลายพันธุ์ชนิดที่มีนัยสำคัญเป็นครั้งแรก ซึ่งคุกคามต่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้

ข้อสังเกตที่ได้จากการวิจัยหนนี้ก็คือ ซาร์ส-โคฟ-2 หรือไวรัสก่อโรคโควิด-19 สามารถกลายพันธุ์ทำให้มีลักษณะของ เอปิโทป (พื้นผิวปฏิสัมพันธ์ที่แอนติบอดีสามารถเข้าไปเกาะจับ) ของไวรัสแตกต่างออกไปหลากหลายได้ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้วัคซีนป้องกันที่กำลังพัฒนากันอยู่ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการอาจไม่ได้ผล

ตัวอย่างซึ่งนำมาตรวจจนพบการกลายพันธุ์ดังกล่าว พบครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติ ในอินเดีย ซึ่งต่อมามีการนำเผยแพร่ ผลการจำแนกพันธุกรรมเต็มรูปแบบให้กับสังคมวิชาการทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยรายที่เป็นเจ้าของตัวอย่างดังกล่าวคือ นักศึกษาแพทย์รายหนึ่งในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น แต่ต่อมาเมื่อทีมวิจัยนำมาเปรียบเทียบแล้ว พันธุกรรมจากตัวอย่างไวรัสดังกล่าวนี้ไม่ได้ใกล้เคียงกับบรรดาสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายในอู่ฮั่น รวมทั้งแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย

Advertisement

การกลายพันธุ์สำคัญนี้เกิดขึ้นกับตุ่มโปรตีนหรือหนามของไวรัส ซึ่งส่วนที่เรียกว่า รีเซปเตอร์-ไบน์ดิง โดเมน (อาร์บีดี) ซึ่งไวรัสใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกตัวเข้าไปเกาะตัวเองกับ แอนจิโอเทนซิน คอนเวิร์ตติง เอนไซม์-2 (เอซีอี-2) ซึ่งเป็นสารเอนไซม์ที่พบในร่างกายและพบมากในปอดมนุษย์ แต่การกลายพันธุ์นี้จะส่งผลให้พันธะของไฮโดรเจนในตุ่มหรือหนามหายไป ทำให้ไวรัสไม่สามารถเกาะกับเซลล์ที่มีเอนไซม์เอซีอี-2ได้ จึงอาจแพร่ในร่างกายด้วยวิธีการอื่นแทน

ในขณะที่วัคซีนส่วนใหญ่ที่พัฒนาการกันอยู่ ใช้หลักการป้องกันไม่ให้อาร์บีดี ของไวรัสเข้าไปเกาะจับกับ เอซีอีนั่นเอง

นักวิจัยส่วนใหญ่แม้ว่าจะชี้ว่า รายงานการวิจัยครั้งนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบทางวิชาการอีกครั้ง เพื่อประเมินข้อเท็จจริง แต่ยอมรับด้วยว่า โคโรนาไวรัส นั้นเป็นกลุ่มไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมสายเดี่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่ายมากและกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ศูนย์ชีววิทยาสารสนเทศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นซีบี) ซึ่งติดตามกลายกลายพันธุ์ของไวรัสนี้ที่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ตลอดเวลาพบว่า มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นแล้ว 3,500 ครั้งนับตั้งแต่ต้นมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ที่สำคัญเช่นนี้มาก่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image