คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เรียกเธอว่า ‘เทเรซา เมย์’

AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS

บ่ายแก่ๆ ของวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ความสับสน วุ่นวายและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในอังกฤษอันเนื่องมาจากผลลัพธ์ของการทำประชามติ “เบร็กซิท” ดูเหมือนสงบระงับลงได้ในระดับหนึ่ง หลังจากประเทศที่ตกอยู่ในสภาพไร้หัวไร้หางอยู่พักใหญ่ ได้รับรู้ว่าพวกเขามีนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มคนใหม่ ต่อจาก “เป็ดง่อย” อย่าง เดวิด คาเมรอน อย่างเป็นทางการแล้ว

เป็นนายกฯสุภาพสตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน หรือกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลคาเมรอน ชื่อ “เทเรซา เมย์”

นั่นหมายความว่า ผู้นำคนใหม่ของอังกฤษไม่ใช่ “หน้าใหม่-โนเนม” ใดๆ ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงในวัย 59 ปีที่อยู่ในแวดวงการเมืองมากว่าทศวรรษ จนหลายคนเรียกขานชนิดชวนให้เกิดความรู้สึกสนิทสนมว่า “อ๊านตี้ เมย์” หรือ “ป้าเมย์” รายนี้กลับเป็นที่รู้จักกันทั่วไป อย่างน้อยก็ในอังกฤษ

ในเวลาเดียวกัน เทเรซา เมย์ ก็ไม่ใช่ “คนดัง” จำพวก “เซเลบ” ทั้งหลาย ประเภทที่ประวัติความเป็นมาและตัวตนทุกซอกทุกมุมถูกขุดคุ้ยหยิบยกขึ้นมาตีแผ่สู่สาธารณะซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจดจำกันขึ้นใจในแทบทุกตารางนิ้ว บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า “ป้าเมย์” คนนี้เหมาะสมจริงหรือกับสถานการณ์ที่เป็นเหมือนหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศชาติอย่างเช่นในเวลานี้

Advertisement

พวกเขารู้เพียงว่า ในบรรดาคนที่อยู่ในวิสัยและกล้าพอที่จะออกหน้ามารับหน้าที่แทนอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างคาเมรอนได้ เทเรซา เมย์ ดูจะเป็น “มือ” ที่ปลอดภัยและมั่นคงที่สุด เท่าที่มีอยู่เท่านั้นเอง

เทเรซา เมย์ กลายเป็นผู้นำคนใหม่ของพรรคอนุรักษนิยม พรรคใหญ่ที่สุดในรัฐบาลผสมอังกฤษ หลังจาก แอนเดรีย เลดซัม คู่แข่งคนสุดท้ายประกาศถอนตัวออกจากการลงมติของสมาชิกพรรค อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยอัตโนมัติ ตามกระบวนการทางรัฐสภาด้วยความเป็นผู้หญิงเพียงแค่คนที่สองเท่านั้นที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจตะวันตกชาตินี้ เทเรซา เมย์จึงถูกนำไปเปรียบเปรยและอุปมาอุปไมยถึง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ผู้นำสตรีคนแรกของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“แทตเชอร์” แกร่ง อาจหาญ เด็ดเดี่ยว และดึงดันในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดหรือไม่ก็ตามสมญานามในเวลาต่อมาของเธอคือ “ไอร์ออนเลดี้” ที่เรียกกันในเมืองไทยง่ายๆ ว่า “หญิงเหล็ก”

แต่คนที่เคย “ซาบซึ้ง” กับบุคลิกและแบบฉบับของเทเรซา เมย์ บอกเอาไว้เป็นเชิงโหมโรงในการทำความรู้จักกับผู้นำคนใหม่ของอังกฤษและของโลกรายนี้ว่า “ป้าเมย์” ถือเป็นทายาทสืบทอดบุคลิกภาพทางการเมืองของ แทตเชอร์ ได้ก็จริง แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ห้าวและเฉียบขาดยิ่งกว่า “หญิงเหล็ก” ด้วยซ้ำไป!

ตอนที่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในปี 1975 นั้น ทุกคนบอกว่า มองยังไง เธอก็ยังเป็นแม่บ้านที่ชอบส่งเสียงแหลมๆ สูงๆ แหวกอากาศ สั่งการโน่นนี่นั่นอยู่ในห้องครัวเท่านั้น ไม่มีอะไรส่อให้เห็นวี่แววใกล้เคียงกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นความพร้อมสำหรับการนำพาประเทศใดๆ

แทตเชอร์รับรู้ความรู้สึกที่ว่านั้นได้ เธอกระทั่งออกลีลาทำทีทำท่าเป็นแม่บ้านกำลังเข้าครัวบนเวทีเรียกเสียงฮาในการประชุมพรรคนัดแรกด้วยซ้ำ

หลังจากนั้นต่างหากที่ “หญิงเหล็ก” ถือกำเนิดขึ้นมา ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่หนุนหลัง เทเรซา เมย์ อยู่จนได้รับเลือกให้เป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศก็คือ ผลงานในการทำหน้าที่รัฐมนตรีมหาดไทยต่อเนื่องยาวนานกันมา 6 ปีเต็ม ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านความมั่นคงภายใน การบังคับใช้กฎหมาย และการควบคุมการเข้าออกดินแดน ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง

กระทรวงมหาดไทย หรือโฮม มินิสทรี ของอังกฤษ ที่รู้จักกันในแวดวงสื่อมวลชนและนักการเมืองที่นั่นอีกอย่างหนึ่งว่าคือ “สุสานทางการเมือง” เนื่องเพราะน้อยคนนักที่เข้ารับตำแหน่งนี้แล้วสามารถเอาตัวรอดทางการเมืองได้อย่างสง่างาม

ส่วนใหญ่แล้วมักลงเอยสิ้นสุดชีวิตทางการเมืองของตนไม่นานหลังรับตำแหน่ง ถ้าไม่ในแบบฉาวโฉ่ก็อับอายขายขี้หน้า

เทเรเซา เมย์ ถือเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษคนแรก ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ได้ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในรอบ 60 ปี

ไม่แกร่งจริง ทำไม่ได้ แกร่งแต่ไร้ความสามารถ ก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ เดวิด คาเมรอน ใช้ 2 คำ “แกร่งและเก่ง” ในการให้คำนิยามตัว เทเรซา เมย์

แหล่งข่าวระดับสูงทางด้านความมั่นคงรายหนึ่ง บอกเอาไว้ว่า ถ้าใครๆ ได้รับรู้สิ่งที่ เทเรซา เมย์ กระทำลงไปในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาทั้งหมด จะยิ่งทึ่งและชื่นชมในขีดความสามารถและความสำเร็จในการทำหน้าที่ของเธอ

เพราะสิ่งที่เธอทำไว้ให้กับอังกฤษในช่วงที่ผ่านมานั้น หลายสิ่งหลายอย่างยังต้องปกปิดเป็นความลับ

เทเรซา เมย์ จัดการทำลายแผนการก่อการร้ายในอังกฤษมาแล้วมากมายแค่ไหน ไม่มีวันที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถรับรู้ได้แน่นอน

การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย แม้มีข้อแตกต่าง แต่ประการหนึ่งที่คล้ายคลึงยิ่งกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คือ มีเรื่องที่ “ตัดสินใจยากๆ” หลั่งไหลกันเข้ามาให้ชี้ขาดต่อเนื่องไม่ขาดสาย การตัดสินใจหลายๆ ครั้งเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกับการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต

เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยอังกฤษรายหนึ่งเปิดเผยว่า เทเรซา เมย์ พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างการดำรงตำแหน่งว่าเป็น “นักชี้ขาดชั้นยอด” เหตุผลก็เพราะไม่เพียง เฉียบขาด ฉับไว เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะไม่ว่าจะได้รับคำแนะนำมาอย่างไร กี่รูปแบบ ดูเหมือนเธอไม่เคยตัดสินใจผิดพลาดอะไรสักครั้ง

สิ่งหนึ่งซึ่งแสดงออกให้สาธารณชนรับรู้ได้ ก็คือการตัดสินใจที่เกี่ยวเนื่องกับแรงกดดันจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เทเรซา เมย์ สร้างชื่อเสียงในฐานะของคนที่ยึดมั่นในหลักการและการตัดสินใจของตนอย่างเด็ดเดี่ยว ยอมหักไม่ยอมงอในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเหล่านี้

กรณีที่โด่งดังก็คือ การปฏิเสธแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ยอมส่งตัวแฮกเกอร์ชาวอังกฤษซึ่งป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ไปดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา แต่ในเวลาเดียวกัน เทเรซา เมย์ ไม่สนใจใยดีกับคำอุทธรณ์ทางด้านมนุษยธรรมจากทั่วทุกมุมโลก แล้วใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจเนรเทศ อาบู ฮัมซา ครูสอนศาสนาหัวรุนแรงออกนอกประเทศ

หลายคนบอกว่า การตัดสินใจของ เทเรซา เมย์ ยึดโยงอยู่กับความเป็นจริงและแนวทางที่ปฏิบัติได้อย่างเด่นชัด

ไม่มีใครให้นิยามถึงความเด็ดเดี่ยว ยืนกราน ชนิดยอมหักไม่ยอมงอของนักการเมืองสตรีผู้นี้ได้ดีกว่า เคน คลาร์ก หนึ่งในผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองอาวุโสที่สุดผู้หนึ่งของพรรคอนุรักษนิยม เป็นคนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งงานหลายรูปแบบ หลายอย่างคาบเกี่ยวต่อเนื่องกับภารกิจของมหาดไทยอย่างช่วยไม่ได้

ครั้งหนึ่ง เคน คลาร์ก ซึ่งไม่คิดว่าคำพูดที่หลุดจากปากของตนจะถูกบันทึกไว้โดยกล้องโทรทัศน์ของสื่อมวลชน ให้นิยาม เทเรซา เมย์ ไว้ว่าเป็น “ผู้หญิงที่(รับมือด้วย)ยากระยำ!”

เทเรซา เมย์ ยิ้มรับกับนิยามสไตล์ทางการเมืองของเธอที่ว่านั้น และบอกหน้าตาเฉยกับคนข่าวที่สอบถามเรื่องนี้ว่า

“เคน คลาร์ก อาจเห็นว่าฉันเป็นผู้หญิงประเภทยากระยำ คนต่อไปที่จะพบแบบเดียวกันนี้ก็คือ ฌ็อง-โคลด ยุงเคอร์”

เป็น ฌ็อง-โคลด ยุงเคอร์ คนที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป คู่เจรจาความว่าด้วย “เบร็กซิท” ในอนาคตของเธอนั่นเอง

อาวุโสทางการเมืองของ เคน คลาร์ก นั้นสูงส่งเหลือหลาย เนื่องเพราะเขาเคยรับตำแหน่งในคณะรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ เทเรซา เมย์ ยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามโดยง่าย เมื่อใดก็ตามที่เธอเห็นว่า การดำเนินการของกระทรวงยุติธรรมกลายเป็นการขวางทางหรือยุ่มย่ามเข้ามาในยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายของมหาดไทย

นั่นคือไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเผชิญหน้า ต่อว่าต่อขานกันระหว่างคนทั้งสอง

ในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทย เทเรซา เมย์ สั่งสมชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการกับอาชญากรรม และการต่อต้านการก่อการร้าย ชนิดไม่ลังเลที่จะสั่งการใดๆ ในอันที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ถ้าหากเอื้อต่อการต่อต้านการก่อการร้ายตามแนวคิดของเธอ

ตรงกันข้ามกับคลาร์ก ที่มักยึดถือแบบแผนเสรีนิยมมากกว่า เป็นที่มาให้เกิดการต่อปากต่อคำซึ่งกันและกัน ที่ลงเอยด้วยคำประกาศของเมย์ว่า

“ฉันเป็นคนจับพวกนี้ล็อกไว้ คุณเป็นคนปล่อยให้ออกมา”

ครั้งหนึ่ง ในการประชุมสมาพันธ์ตำรวจระดับชาติ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลตำรวจทุกเขตทั่วประเทศ มีประธานสมาพันธ์ประจำแต่ละเขตเข้าร่วมประชุมคับคั่ง คับข้องใจจากการตัดงบประมาณที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา 2 ปี และเทเรซา เมย์ ไม่ได้ทำอะไรเลย

เสียงโห่จึงดังขึ้นต้อนรับเมื่อเธอก้าวขึ้นสู่แท่นปราศรัย แต่โดยไม่แยแสว่ามหาดไทยจำเป็นต้องมีตำรวจเป็นพันธมิตร เทเรซา เมย์ จัดการชำแหละการทำงานของตำรวจเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตามด้วยประโยคสำทับว่า “ฉันมาที่นี่ เพื่อบอกกับพวกคุณทั้งหลายว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง”

เงียบกริบกันทั้งห้องประชุม เอียน พอยน์ตัน ประธานสมาพันธ์ตำรวจเคนท์ บอกกับไฟแนนเชียล ไทมส์ ในเวลาต่อมาว่า

เทเรซา เมย์ ดุยังกะสิงโต!

ความเป็นตัวของตัวเอง ตรงไปตรงมา กล้าได้กล้าเสียในทำนองนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับ เทเรซา เมย์ ในทางตรงกันข้าม เมื่อปี 2002 เมื่อครั้งที่ยังเป็น ส.ส.รุ่นใหม่ ในห้วงเวลาที่พรรคอนุรักษนิยมแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคแรงงานของ โทนี แบลร์ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นเธอนี่แหละที่ลุกขึ้นมากระตุกทุกคนให้ลืมตามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เทเรซา เมย์ คือเจ้าของวลีที่เรียกขานพรรคอนุรักษนิยมว่า “แนสตี้ปาร์ตี้” ที่พอจะแปลเป็นไทยได้ว่า “พรรคที่น่าคลื่นไส้” กลางที่ประชุมพรรค

เธอบอกว่า พรรคถูกรังเกียจจากหลายๆ คนที่เรียกขานพรรคเช่นนั้น เพราะยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบไม่ลืมหูลืมตา จนลืมที่จะมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัว

เทเรซา เมย์ แทบจะกลายเป็น “หมาหัวเน่า” ในพรรคในเวลาต่อมาเพราะวลีนั้น

แต่นั่นคือบทพิสูจน์ความเป็นเทเรซา เมย์ แท้ๆ ที่ทำให้ เดวิด คาเมรอน ดึงเธอเข้ามาในแวดวงของตัวเองในเวลาต่อมา ที่นำไปสู่การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดในเวลานี้

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษของ เทเรซา เมย์ ทำให้การเมืองบนเวทีโลกในอนาคตอันใกล้ชวนติดตามมากขึ้นอักโข เมื่อมีสุภาพสตรีอัตตาแก่กล้า มากความสามารถ ยืนเป็นเสาหลักอยู่ใน 3 มหาอำนาจ

อังเกลา แมร์เคิล ที่เยอรมนี เทเรซา เมย์ ที่อังกฤษ และอาจเป็น ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน ที่สหรัฐอเมริกา!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image