จี้รัฐบาลผู้ดีรีดภาษียักษ์เทคโนฯต่างชาติ 3 เท่า มาช่วยอุ้มองค์กรสื่อเซ่นพิษโควิด

แฟ้มภาพเอเอฟพี

เมื่อวันที่ 22 เมษายน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวในอังกฤษออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติยักษ์ใหญ่ เพื่อนำเงินภาษีที่ได้ดังกล่าวมาสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อในประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมสื่อคาดการณ์ว่าอาจมีผู้สื่อข่าวในอังกฤษมากถึง 5,000 คน ที่จะต้องตกงานโดยไร้ซึ่งการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของรัฐบาล ในขณะที่มาตรการล็อคดาวน์ได้ส่งผลให้ยอดขายสื่อสิ่งพิมพ์ตกลงและรายได้จากการโฆษณาของสื่อลดลงไปมากอยู่แล้ว

สหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (เอ็นยูเจ) ของอังกฤษชี้ว่า การดำเนินการโดยด่วนเป็นสิ่งจำเป็นและรัฐบาลควรจะพิจารณาไปที่การปรับขึ้นภาษีภาคบริการสื่อดิจิทัลใหม่จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เพื่อจะได้มีเงินสนับสนุนในวงกว้างภายใต้แผนการฟื้นฟูระยะยาวของรัฐบาล

ซีมัส ดูลีย์ รองเลขาธิการเอ็นยูเจ กล่าวว่า มีการประเมินว่าภายใต้แผนการปัจจุบันของรัฐบาล อาจทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาราว 500 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งนั่นเป็นแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่เรากำลังพูดถึงการจัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งเป็นจำนวนที่จะมีการอัดฉีดเข้ามาในทันที หากมีการจัดเก็บในลักษณะภาษีลาภลอย

Advertisement

ทั้งนี้ อังกฤษเริ่มมีการจัดเก็บภาษีภาคบริการดิจิทัลเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาที่พุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้บริการเสิร์ชเอ็นจิน โซเชียลมีเดียและตลาดซื้อขายทางออนไลน์ ที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้อีกมากกว่า 25 ล้านปอนด์ โดยสำนักงานงบประมาณคาดหมายว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 280 ล้านปอนด์ในปีแรก และ 500 ล้านปอนด์ภายในปี 2025

การเสนอจัดเก็บภาษีข้างต้นมีขึ้นหลังจากมีการโต้เถียงถึงกรณีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ต่างชาติ อย่าง กูเกิล และ เฟซบุ๊ก ที่มีรายได้มหาศาลจากค่าโฆษณาในอังกฤษ ทว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้กลับจ่ายภาษีภายในประเทศเพียงน้อยนิด

ยังมีการสะท้อนข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อผู้ประกอบวิชาชีพผู้สื่อข่าวจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวอิสระที่ไม่ได้อยู่ในแผนช่วยเหลือของรัฐบาล

Advertisement

จากข้อมูลของเพรส กาเซ็ตตาระบุว่า มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นถึงเกือบ 250 แห่ง ที่ต้องปิดตัวลงไประหว่างปี 2005-2018 และวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดนี้ก็ได้ทำให้พนักงานที่ไม่ใช่ในส่วนของกองบรรณาธิการข่าว มากกว่า 2,000 คน ในหัวหนังสือพิมพ์ราว 500 แห่ง ถูกปลดออกจากงาน บางบริษัทที่คาดหมายว่าจะสูญเสียรายได้ไปมูลค่าหลายล้านปอนด์ก็ได้ทำการลดเงินเดือนหรือขอให้พนักงานลดชั่วโมงการทำงานลง หรือให้ลาพักโดยไม่ได้รับเงินเดือน และอีกหลายแห่งที่ประกาศควบรวมกิจการหรือส่งสัญญาณว่าอาจจะปิดกิจการลง

เจมส์ มิตชินสัน บรรณาธิการอำนวยการของหนังสือพิมพ์ยอร์กเชียร์โพสต์ สื่อท้องถิ่นทางตอนเหนือของอังกฤษ กล่าวย้ำว่า ทีมงานของตนทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคอย่างถูกต้องเชื่อถือได้ แต่องค์กรสื่อที่ทำงานอย่างหนักแบบตนอีกหลายแห่งที่อาจจะต้องปิดตัวลง หากปราศจากการเข้ามาช่วยเหลือของรัฐบาลในทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image