สถานทูตจีน แจงกรณีสร้างเขื่อนทำโขงแล้ง ระบุ โครงการชลประทานเป็นหลักประกันที่ขาดมิได้

สถานทูตจีน

สถานทูตจีน แจงกรณีสร้างเขื่อนทำโขงแล้ง ระบุ โครงการชลประทานเป็นหลักประกันที่ขาดมิได้ในการรับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม ประเทศในยุโรป 90% มีโครงการดังกล่าว

สถานทูตจีน – เมื่อวันที่ 24 เมษายน เฟซบุ๊กของ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้โพสต์คำชี้แจง กรณีคำถามการสร้างเขื่อนของจีน ที่เป็นต้นเหตุให้แม่น้ำโขงตอนล่างเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้ง และมีความเห็นว่าควรรื้อถอนเขื่อนออกไป โดยระบุว่า

ความเห็นข้อที่ 1 “การสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำเยอะขึ้นในหน้าฝนและน้อยลงในหน้าแล้ง เป็นต้นเหตุที่แม่น้ำโขงตอนล่างเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้ง”

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า : คนสมัยใหม่มักจะไปออมทรัพย์ที่ธนาคารเมื่อมีเงินเหลือ เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินในวันข้างหน้า โครงการชลประทานก็เป็นธนาคารของแม่น้ำ หน้าฝนเก็บน้ำ หน้าแล้งปล่อยน้ำ เป็นหลักประกันที่ขาดมิได้ในการรับมือกับน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ประเทศยุโรป เช่น สวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ มีโครงการชลประทานในแม่น้ำมากกว่า 90% สหรัฐ มีอ่างเก็บน้ำ 84,000 แห่ง แม่น้ำ 96% ได้สร้างเขื่อน โดยแม่น้ำมิสซิสซิปปีโดดเด่นที่สุด หนังสือ “ฟ้าลิขิต” ซึ่งพิมพ์โดยสำนักงานแม่น้ำมิสซิสซิปปีระบุว่า “หากแม่น้ำมิสซิสซิปปีไม่มีโครงการชลประทานที่รัฐบาลสหรัฐลงทุน 14,000 ล้านเหรียญสร้าง นึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดภัยพิบัติ จะกลายเป็นประเทศโลกที่สาม ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการขนส่งและไม่มีฟาร์ม ชายฝั่งจะถูกน้ำท่วมและกัดเซาะ เป็นภาพที่พังพินาศอย่างยับเยิน”

สหรัฐได้ลงทุนสร้างเขื่อนในต้นน้ำที่แคนาดา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในแม่น้ำโคลัมเบียตอนล่าง สำหรับแม่น้ำโขง 80% ของน้ำฝนตกลงมาในหน้าฝน แต่การพัฒนาโครงการชลประทานยังน้อยกว่าสหรัฐและยุโรปมาก ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ประเทศในภูมิภาคได้สร้างโครงการชลประทานหลายแห่งในแม่น้ำสายหลักและสายย่อยของแม่น้ำโขง ซึ่งรวมเขื่อน 2 แห่งในสายหลัก และเขื่อน 40 กว่าแห่งในสายย่อย เพื่อปรับระดับน้ำตามฤดู หลังจากเกิดภัยแล้งปีนี้ รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณพิเศษในการสร้างโครงการชลประทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โครงการชลประทานจะทำให้น้ำในแม่น้ำตอนล่างเยอะขึ้นในหน้าแล้งและน้อยลงในหน้าฝน โดยผ่านการปรับระดับน้ำตามหลักวิทยาศาสตร์

Advertisement

ความเห็นข้อที่ 2 “เขื่อนในแม่น้ำล้านช้างทำให้ตอนล่างยิ่งแล้งขึ้น ควรรื้อถอนออกไป”

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า : ตามสถิติการสังเกตการณ์ ในสภาพธรรมชาติก่อนสร้างเขื่อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่น้ำล้านช้างอยู่ที่ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของปีนี้ เมื่อคำนึงถึงได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในตอนล่าง จีนได้บริหารจัดการพิเศษ ให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่น้ำล้านช้างมากกว่า 2 เท่าตัวของน้ำไหลเข้า อยู่ในระดับที่มากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ข้อมูลจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า ที่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสน ซึ่งเป็นสถานีอยู่ใกล้สุดกับจีน ระดับน้ำในเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่า 0.2 เมตรเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการชลประทานในแม่น้ำล้านช้างมีบทบาทในการเพิ่มปริมาณน้ำในหน้าแล้ง ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาไม่ได้ลดลงแต่เพิ่มขึ้น รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า หน้าแล้งปี 2019 และปี 2020 ปริมาณน้ำมาจากแม่น้ำล้านช้างมากกว่าช่วงหน้าแล้งปีก่อนๆ

เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ประเทศต่างๆ ก็จะหารือกันอย่างกระตือรือร้นในการตั้งธนาคารใหม่หรือประสานการทำงานระหว่างธนาคาร น้อยคนคิดว่าควรแก้ปัญหาโดยรื้อถอนธนาคาร เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดยิ่งบ่อยขึ้น ทำไมจะไปเชื่อคำยั่วยุของคนที่มีเจตนาซ่อนเร้น มองข้ามประโยชน์เชิงบวกของโครงการชลประทาน และไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีโครงการชลประทาน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image