สหรัฐอ้าง ‘เรมเดซิเวียร์’ มีผลช่วยรักษาโควิด-19 ชัดเจน

นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐออกมาระบุว่า เรมเดซิเวียร์ ยาต่อต้านไวรัสซึ่งคิดค้นขึ้นเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยอีโบลา ซึ่งผลิตโดยบริษัทกิลีดของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีผลในการช่วยรักษาผู้ป่วยที่ติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 หลังจากพบว่าผู้ป่วยราว 30% ที่ได้รับยาต้านไวรัสดังกล่าวฟื้นตัวเร็วกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก

แม้ขณะนี้จะไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้ยาเรมเดซิเวียร์จะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องในการรักษาโรคโควิด-19 แต่ถือเป็นครั้งแรกในการทดสอบทางการแพทย์ที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาชนิดดังกล่าวช่วยส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย

สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐออกแถลงการณ์ระบุว่า จากการทดสอบจริงกับผู้ป่วยพบว่าราว 31% มีการฟื้นตัวดีกว่าผู้ที่ใช้ยาหลอก โดยค่าเฉลี่ยในการฟื้นตัวของผู้ใช้ยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 11 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่รับยาหลอกซึ่งใช้เวลาในการฟื้นตัวที่ 15 วัน

นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี จากศูนย์ปฏิบัติการว่าด้วยการรับมือการแพทยระบาดของไวรัสโคโรนาของรัฐบาลสหรัฐ และผู้บริหารสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยาเรมเดซิเวียร์มีผลในทางบวกอย่างชัดเจนและมีนัยสำคัญ ที่ช่วยลดเวลาในการฟื้นตัวของผู้ป่วยโควิด-19

Advertisement

“แม้ตัวเลข 31% จะไม่เหมือนตัวเลขเต็ม 100% ที่ช่วยทำให้ไวรัสล้มลงได้ แต่ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญของแนวคิดที่ว่ายาชนิดนี้สามารถที่จะช่วยหยุดไวรัสโคโรนาได้”นายแพทย์ฟอซีกล่าว

ผลการศึกษายังแนะนำด้วยว่าผู้ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตน้อยกว่าอีกด้วย แม้ค่าความแตกต่างของการเสียชีวิตจะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยผู้เสียชีวิตหลังได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 8% ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเสียชีวิตอยู่ที่ 11.6%

การทดสอบประสิทธิภาพของยาเรมเดซิเวียร์ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอาศัยกลุ่มตัวอย่าง 1,063 คนในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย

Advertisement

อย่างไรก็ดีเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวว่ายาเรมเดซิเวียร์ ไม่ได้ผลในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีการสรุปผลวิจัยเบื้องต้นว่า ยาเรมเดซิเวียร์ไม่ได้ทำให้เกิดอาการดีขึ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญทางสถิติของผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลอง หลังมีการเผยแพร่ผลวิจัยชิ้นนี้ผ่านทางเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก(ฮู)เพียงไม่นานก่อนที่จะถูกถอดออกจากเว็บไซต์ ซึ่งฮูระบุภายหลังว่าการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวเป็นความผิดพลาด เพราะผลวิจัยยังไม่ผ่านการตรวจสอบและยังอยู่ระหว่างกระบวนการเพียร์รีวิว กระทั่งทางการสหรัฐออกมายืนยันประสิทธิภาพของยาเรมเดซิเวียร์ในท้ายที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image