ตุรกีเดินหน้าล้างบางฝ่ายต่อต้าน ประชาคมโลกห่วงใช้อำนาจเกินขอบเขต จี้เคารพนิติรัฐ

REUTERS

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของตุรกียังคงเดินหน้าจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีเรชิป เทย์ยิป แอร์ดวน ของตุรกีต่อไป ท่ามกลางความห่วงกังวลของประชาคมโลกที่มีมากขึ้นต่อระดับปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามของผู้นำตุรกี ที่ตัวเลขที่เปิดเผยของทางการระบุว่ามีผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตัวไปสอบสวนแล้วมากกว่า 6,000 คน ซึ่งมีทั้งอัยการ ผู้พิพากษาและผู้บัญชาการทหารระดับสูง จนทำให้รัฐบาลหลายชาติต้องออกมาจี้ให้ตุรกียึดมั่นในหลักนิติรัฐ ขณะที่ตัวเลขผู้เเสียชีวิตจากเหตุรัฐประหารครั้งนี้ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 290 ราย

REUTERS
REUTERS

สำนักข่าวอนาโดลูของทางการตุรกีรายงานว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษนำกำลังจู่โจมเข้าไปยังสถาบันวิชาการทหารกองทัพอากาศ ในนครอิสตันบูล เพื่อค้นหาผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนร่วมในความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดวางกำลังตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษเพิ่มเติมอีกราว 1,800 นายคอยรักษาการณ์ในพื้นที่จังหวัดโดยรอบนครอิสตันบูลเพื่อความปลอดภัย ด้านเจ้าหน้าที่ทางการตุรกีเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายพลเมห์เม็ต ดิสลี ซึ่งเป็นหัวหอกนำในการจับตัวนายพลฮูลูซี อาการ์ เสนาธิการทหารตุรกีเป็นตัวประกันในระหว่างการเผชิญหน้าในวันที่กลุ่มต่อต้านพยายามก่อรัฐประหาร

REUTERS
REUTERS

ล่าสุด สำนักข่าวโดกัน สื่อทางการอีกสำนักรายงานว่า ขณะนี้มีทหารระดับนายพลทั้งจากกองทัพบกและกองทัพเรือที่ถูกทางการตุรกีจับกุมตัวไว้แล้ว 103 นาย โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปยังศาลเพื่อขออำนาจในการควบคุมตัว และทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มที่ทางการตุรกีเรียกว่า องค์การก่อการร้ายเฟตุลเลาะห์ซี (ฟีโต) ที่นำโดยนายเฟตุลเลาะห์ กุยเลน ผู้นำทางศาสนาชาวตุรกีที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ปฏิบัติการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารอย่างกว้างขวางของรัฐบาลตุรกี ส่งผลให้นานาชาติออกมาแสดงความห่วงกังวล โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา และนางอังเกลา แมร์เคิล เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำที่กล่าวเรียกร้องให้ตุรกียึดมั่นในหลักนิติรัฐ ขณะที่นางเฟเดริกา โมเกรินี ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศสหภาพยุโรป(อียู) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมว่า หลักนิติรัฐจำเป็นจะต้องได้รับการคุ้มครองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

Advertisement

“ขณะที่เราเป็นหนึ่งในคนแรกๆที่ออกมากล่าวในค่ำคืนแห่งโศกนาฏกรรม(ความพยายามก่อรัฐประหาร)ว่าสถาบันประชาธิปไตยและฝ่ายนิติบัญญัติจักต้องได้รับการปกป้อง วันนี้เราจะกล่าวร่วมกันว่านั่นไม่ได้หมายความว่าหลักนิติรัฐและระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลในประเทศจะไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ด้วย ตรงกันข้ามระบบนี้จำเป็นจะต้องได้รับการปกป้องเพื่อประโยชน์ของประเทศ” นางโมเกรินีกล่าว

ด้านนายโยฮัน ฮาห์น กรรมาธิการกิจการขยายสมาชิกภาพของอียูที่ดูแลการเข้าเป็นสมาชิกอียูของตุรกี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ดูเหมือนรัฐบาลตุรกีได้จัดเตรียมรายชื่อไว้ก่อนที่ผู้พยายามก่อรัฐประหารจะถูกจับกุม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่านี่เป็นการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว

ขณะที่นายฌอง-มาร์ก เอโรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสประณามการก่อรัฐประหาร เราไม่สามารถยอมรับอำนาจทหารได้ แต่ขณะเดียวกันเราจะต้องระมัดระวังไม่ให้รัฐบาลตุรกีใช้ระบบที่จะทำให้ประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีเสียงทัดทานการจะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ของทางการตุรกี หลังจากมีกระแสเรียกร้องภายในประเทศให้ประธานาธิบดีแอร์ดวนนำโทษประหารมาใช้ลงโทษผู้พยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งประธานาธิบดีแอร์ดวนเองก็ขานรับที่จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับพรรคฝ่ายค้านต่อไป ต่อประเด็นนี้ นายเซบาสเตียน เคิร์ซ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรีย กล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หากตุรกีนำโทษประหารชีวิตมาใช้ตอบโต้ผู้พยายามก่อรัฐประหาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image