ผลวิจัยชี้ “ล็อกดาวน์” คุมโควิด เสี่ยงทำ 1.4 ล้านคนดับเพิ่มจากวัณโรค

แฟ้มภาพเอพี

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามาตรการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ที่ใช้กันทั่วโลกเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะทำให้มีผู้ป่วยวัณโรคมีเพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงเพิ่มขึ้นอีกถึงเกือบ 1.4 ล้านคนภายใน 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2025 ได้ เนื่องจากมาตรการปิดเมืองและการเว้นระยะห่าง อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถเข้าไปตรวจโรคให้กับประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบาง ส่วนตัวผู้ป่วยเองก็จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

ทั้งนี้วัณโรค เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ยังรักษาหายได้ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคราว 10 ล้านคน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2018 วัณโรคได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากถึง 1.5 ล้านราย ซึ่งรวมถึงเด็กมากกว่า 200,000 ราย

ลูซิกา ดิทิว ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มสต็อป ทีบี พาร์ทเนอร์ชิป กล่าวว่า ทั้งๆที่มียาและวิธีการรักษา แต่เรายังไม่สามารถเข้าใกล้การขจัดโรคนี้ได้และวัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อเพชฌฆาตที่ใหญ่ที่สุด หากยิ่งมีผู้ไม่ได้รับการตรวจและรักษามากเท่าไร ปัญหาก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

โดยโมเดลการศึกษาที่มีการพัฒนาร่วมกันกับนักระบาดวิทยาจากอิมพีเรียล คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ซึ่งใช้ข้อมูลการตอบสนองรับมือกับวัณโรคในหลายประเทศที่มีอัตราการป่วยวัณโรคสูงอย่างอินเดีย เคนยา และ ยูเครน พบว่าหากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกดำเนินไปเป็นเวลา 2 เดือนและมีการตอบสนองต่อโรคที่รวดเร็ว อาจจะทำให้มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.8 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้าและคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 340,000 ราย

Advertisement

แต่หากประเทศต่างๆล้มเหลวที่จะทำการตรวจโรคและให้การรักษาโดยเร็ว โมเดลการศึกษาชี้ว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากมีการล็อกดาวน์นาน 3 เดือน ก็อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้นอีกถึง 6 ล้านคน และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1.4 ล้านคนในปี 2025

รองศาสตราจารย์นีมาลัน อารีนามินพาที ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดจากวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ กล่าวว่า วัณโรคมีตัวยารักษาที่ราคาไม่แพงนัก ที่ผ่านมาความพยายามในการควบคุมโรควัณโรคมุ่งเน้นไปที่การตรวจวินิจฉัยโรคให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การล็อกดาวน์และมาตรการอื่นๆเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา กำลังส่งผลกระทบต่อระบบในการจัดการรับมือกับโรควัณโรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image