31 บริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคม ทั่วโลก จับมือตั้งกลุ่ม “โอเพ่น5จี”

REUTERS/Dado Ruvic /Illustration

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมว่า บริษัทด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมทั่วโลก 31 บริษัท จับมือกันก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อระบบ 5จีที่เปิดกว้างและสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยดี ขจัดความจำเป็นในการต้องใช้ผู้ให้บริการหลักรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวไป

ระบบการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5จี ที่ไม่เพียงมีความเร็วในการติดต่อสื่อสารไร้สายมากขึ้นหลายเท่าตัวเทานั้น ยังทำลายขีดจำกัดเดิมของการสื่อสารไร้สายหลายอย่างลง กำลังกลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างหนักในระดับโลก หลังจากสหรัฐอเมริกาอาศัยข้ออ้างด้านความมั่นคง สั่งห้ามรณรงค์ไม่ใช้ระบบ 5จี ที่บริษัท หัวเว่ย ผู้นำด้านโทรคมนาคมของโลกจากจีน จนทำให้การเลือกติดตั้งระบบของ หัวเว่ย หรือแม้แต่คู่แข่งจากยุโรป อย่างเช่น โนเกียและอีริคสัน กลายเป็นปมละเอียดอ่อนทางการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมา

กลุ่มพันธมิตรใหม่นี้ เรียกตัวเองว่า “โอเพ่น แรน โพลิซี โคอะไลชัน” ตั้งเป้าหมายในการพัฒนา “มาตรฐานของระบบแบบเปิด” เพื่อเอื้อต่อการช่วยให้ทุกๆ บริษัทสามารถเข้าร่วมแข่งขันประมูลเพื่อพัฒนาหรือติดตั้งองค์ประกอบหลายๆ ส่วนของระบบเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงเครือข่ายสัญญาณวิทยุได้ กลุ่มพันธมิตรเชื่อว่าระบบนี้จะลดการพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตรายหนึ่งรายเดียวได้ ช่วยให้ ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สาย หรือเซอร์วิส โพรไวเดอร์ รู้ได้ว่ายังมีทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการว่าจ้างให้ผู้ผลิตรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งเครือข่ายแบบปิดเหมือนก่อนหน้านี้

กลุ่มพันธมิตรใหม่นี้ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ไมโครซอฟท์, กูเกิล, ไอบีเอ็ม, และซิสโก้ กับบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมอย่าง เอทีแอนด์ที, เวอไรซอน ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน และผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง โวดาโฟน, ราคูเทน, และ เทเลโฟนิกา ตลอดจน ผู้ผลิตชิปประมวลผลสำหรับการสื่อสารไร้สายอย่าง ควอลคอมม์, อินเทล และ ซัมซุง อีกด้วย

Advertisement

นางไดแอน รินัลโด รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งเชิงบริหาร แต่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการองค์การข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นทีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกา อยู่ด้วยอีกตำแหน่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มพันธมิตรใหม่นี้ ยืนยันว่า กลุ่มไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากบริษัทหนึ่งเดียวใดๆ เป็นการเฉพาะ แต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อหารือถึงความจำเป็นในการมีห่วงโซ่ซัพพลายที่ดี และป้องกันไม่ให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดสามารถครอบงำระบบทั้งหมดได้

นางรินัลโด ไม่ได้กล่าวถึงกรณีของหัวเว่ย แต่ชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่า การทำให้ผู้ให้บริการมีทางเลือก และ ทำให้การติดตั้งระบบมีความยืดหยุ่นเป็นความจำเป็นทั้งในแง่ของศักยภาพของระบบและในแง่ของความมั่นคง และยืนยันว่า การจัดทำมาตรฐานแบบเปิดและอินเตอร์เฟซที่เปิดกว้าง ทำให้แน่ใจได้ว่า ระบบจะมีความมั่นคงปลอดภัยและทำงานร่วมกันได้ด้วยดีจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดและอาจช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงระบบของผู้ผลิตรายใหม่ๆ อีกด้วย

ผู้อำนวยการกลุ่มพันธมิตรใหม่ระบุว่า ทางกลุ่มจะส่งเสริมให้เครือข่ายเอกชนในสหรัฐดำเนินการในแนวทางนี้ โดยที่มีรัฐบาลช่วยสนับสนุนให้มีซัพพลายเชนหลากหลาย และอุดหนุนการวิจัยเพื่อเครือข่ายแบบเปิดด้วย

นางรินัลโดยังระบุว่า ระบบนี้ไม่ใช่ระบบใหม่แต่บางประเทศอย่างเช่นอินเดียและญี่ปุ่นนำมาใช้ได้ผลดีมาแล้ว ทางกลุ่มเพียงช่วยขยายความแนวคิดนี้ขึ้นมาเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image