อินเดียอพยพปชช.เพิ่ม หนีรง.เคมีเกาหลีก๊าซรั่ว

ภาพเหตุการณ์ที่กลุ่มควันสีขาวลอยคลุ้งออกมาจากโรงงานเแอลจี โพลีเมอร์ ในเมืองวิสาขาปัตนัม ในรัฐอานธรประเทศ ของอินเดีย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เหตุก๊าซพิษรั่วดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย (เอเอฟพี)

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตำรวจอินเดียอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบที่ตั้งโรงงานเคมี “แอลจี โพลีเมอร์” ของบริษัทแอลจี เคม ผู้ประกอบอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ในเมืองวิสาขาปัตนัม รัฐอานธรประเทศของอินเดีย ให้ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม หลังจากเกิดเหตุก๊าซพิษรั่วขึ้นที่โรงงานแห่งนี้ในช่วงเช้าวันพฤหัสฯ(7 พ.ค.) จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย และทำให้ประชาชนอีกนับพันรายบาดเจ็บจากการสูดดมก๊าซพิษดังกล่าวเข้าไป

สำหรับการอพยพประชาชนเพิ่มออกจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นมาจากสาเหตุใด เบื้องต้นยังมีรายงานสับสนว่าเกิดก๊าซรั่วขึ้นอีกหรือมาจากความหวั่นเกรงว่าอุณหภูมิภายในโรงงานแห่งนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจจะทำให้เกิดก๊าซพิษรั่วไหลออกมารอบใหม่อีกได้หรือไม่

นายเอ็น.สุเรนดรา อนันด์ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเขตวิสาขาปัตนัมเปิดเผยว่าขณะนี้กำลังอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่ตั้งโรงงานแห่งนี้ออกนอกพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีก๊าซรั่วไหลออกมา

ขัดแย้งกับท่าทีของบริษัทแอลจี เคม ที่ออกถ้อยแถลงจากกรุงโซลว่า ไม่ได้มีการรั่วไหลของก๊าซรอบสอง แต่แอลจี เคม ตัดสินใจขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ในรัศมี 3.5 กิโลเมตรจากที่ตั้งโรงงานแห่งดังกล่าวเพิ่มเติมนั้นก็เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากมีความกังวลว่าอุณหภูมิที่ถังบรรจุเคมีภัณฑ์อาจจะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ จึงให้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นไว้ก่อนซึ่งรวมถึงการฉีดน้ำเลี้ยงถังบรรจุเคมีภัณฑ์ดังกล่าวไว้

Advertisement

ข่าวแจ้งว่า ตำรวจอินเดียได้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยรถบัสโดยสารตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา หลังจากแอลจี เคมและเจ้าหน้าที่ทางการอินเดียระบุว่าเหตุก๊าซรั่วที่โรงงานแอลจี โพลีเมอร์นั้นควบคุมได้แล้ว

ด้านนายจากาน โมฮาน เรดดี มุขมนตรีรัฐอานธรประเทศ กล่าวทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมว่า เหตุก๊าซรั่วดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ ได้ถูกเก็บไว้นานเกิน

โดยโรงงานแห่งนี้เป็นสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีสไตรีน เช่น ใบพัดพัดลม ถ้วย อุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และ บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image