‘ยูเอ็น’ เตือน ‘โควิด’ ทำโลกเผชิญวิกฤตด้านสุขภาพจิต

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ออกมาเตือนว่า ขณะนี้โลกกำลังใกล้จะเผชิญกับวิกฤติด้านสุขภาพจิต หลังผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับการเสียชีวิตและการเจ็บป่วย รวมกับการที่บุคคลต้องถูกบังคับให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ตกอยู่ท่ามกลางความยากจน และความเครียดอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19

เดโวรา เคสเทล ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลก(ฮู)ชี้ว่า การที่ผู้คนถูกแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว มีความหวาดกลัว เผชิญกับความไม่แน่นอน รวมถึงความโกลาหลวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ล้วนแต่เป็นปัจจัยซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต

ในการนำเสนอรายงานของยูเอ็นเกี่ยวกับข้อแนะนำทางด้านนโยบายในเรื่องโควิด-19 รวมถึงด้านสุขภาพจิต เคสเทลกล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะพบการเพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนและความรุนแรงของผู้ป่วยทางจิต โดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรนำประเด็นนี้อยู่ในประเด็นต้นๆ และเป็นศูนย์กลางของการตอบสนองกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

“สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมเป็นเรื่องที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว และควรจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญให้เป็นเรื่องเป็นด่วน”เคสเทลกล่าว

Advertisement

รายงานยังได้ระบุถึงภูมิภาครวมถึงภาคส่วนของสังคมที่ถือว่ามีความปลอดบางต่อการประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ เด็กและเยาวชนที่ถูกแยกจากเพื่อนและไม่ได้ไปโรงเรียน หรือผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขซึ่งต้องพบกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อและเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก

รายงานดังกล่าวยังชี้ด้วยว่ามีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเด็กมีความกังวลมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พบกรณีที่ผู้คนเกิดภาวะซึมเศร้าและเต็มไปด้วยความวิตกกังวลในหลายประเทศ เช่นเดียวกับความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนักจิตวิทยาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

รายงานของฮูระบุอีกว่า มีคนจำนวนมากรู้สึกไม่มีความสุขเนื่องจากผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นทันที และยังมีผลกระทบทางจิตใจเนื่องจากถูกกักบริเวณ ขณะที่คนจำนวนมากก็กลัวว่าตนเองจะติดเชื้อ เสียชีวิต หรือสูญเสียสมาชิกในครอบครัว

ผู้คนอีกหลายล้านคนทั่วโลกยังเผชิญกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องสูญเสียงานหรือเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้และเกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับข้อมูลและข่าวลือที่ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดใหญ่ รวมถึงความไม่แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะลากยาวไปเท่าไหร่ ซึ่งยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกเครียดและสิ้นหวังต่ออนาคต

รายงานดังกล่าวได้แนะนำให้ผู้กำหนดนโยบายตั้งเป้าในการลดความเจ็บปวดที่มีอยู่อย่างมโหฬารของผู้คนจำนวนมาก และลดผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและเศรษฐกิจ โดยต้องมีการลงทุนเกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น และยังต้องมีการให้บริการด้านสุขภาพจิตเป็นการเร่งด่วนผ่านการสื่อสารทางไกลให้กับผู้ที่อยู่ในแนวหน้าอย่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งยังต้องทำงานเชิงรุกกับผู้คนที่มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงผู้ที่ประสบกับภาวะความยากแค้นบีบบังคับอย่างเฉียบพลันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image