ฮือฮา! ผู้ดีออกใบอนุญาตดัดแปลงพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ครั้งแรก เพื่อวิจัยเจริญพันธุ์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อังกฤษได้ออกใบอนุญาตให้สามารถทำการดัดแปลงทางพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยด้านการเจริญพันธุ์และศึกษาสาเหตุการแท้งได้เป็นครั้งแรก โดยสำนักงานการเจริญพันธุ์ของมนุษย์และคัพภวิทยา(เอชเอฟอีเอ) ซึ่งศึกษาการเจริญพันธุ์ของตัวอ่อน คณะทำงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ แถลงว่า คณะกรรมการพิจารณาใบอนุญาตของเอชเอฟอีเอ ได้พิจารณาเห็นชอบให้ออกใบอนุญาตให้ตามคำร้องของ ดอกเตอร์แคธี เนียแคน จากสถาบันฟรานซิสคริส ในการต่อใบอนุญาตการค้นคว้าวิจัยของห้องทดลองของดอกเตอร์เนียแคน ที่รวมถึงการวิจัยดัดแปลงพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ด้วย

ก่อนหน้านั้นดอกเตอร์เนียแคนเปิดเผยว่า มีแผนงานที่จะดัดแปลงพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่า CRISPR-Cas90 โดยตัวอ่อนมนุษย์ที่จะใช้ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะไม่กลายมาเป็นทารก หากแต่จะมีการทำลายตัวอ่อนที่ใช้ในการศึกษาวิจัยภายใน 14 วันและจะใช้ในการศึกษาเพื่อการวิจัยขั้นพื้นฐานเท่านั้น ดอกเตอร์เนียแคนยังมีแผนที่จะศึกษาค้นหายีนที่มีบทบาทในช่วงการเจริญพันธุ์ใน 2-3 วันแรกเมื่อตัวอ่อนกำลังพัฒนาเยื่อหุ้มเซลก่อนที่จะกลายมาเป็นรก สำหรับตัวอ่อนที่จะใช้ในการวิจัยศึกษาที่จะถูกทำลายทิ้งในภายหลังนั้น จะมาจากการบริจาคของคู่สามีภรรยาที่เข้ามารับการรักษาการมีบุตรยากด้วยวิธีปฏิสนธินอกร่างกาย(ไอวีเอฟ)ซึ่งไม่ต้องการตัวอ่อนดังกล่าว

การตัดสินของเอชเอฟอีเอสร้างความยินดีให้กับบรรดานักวิจัยอย่างบรูซ ไวท์ลอว์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ที่กล่าวว่า โครงการนี้น่าจะช่วยสามีภรรยาที่มีบุตรยากได้และช่วยลดความเสี่ยงการแท้งลูก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกรายมองว่าการวิจัยเรื่องนี้จะมีผลต่อบางประเด็นที่มีความอ่อนไหว ดังนั้น เอชเอฟอีเอควรรจะต้องพิจารณาการทำวิจัยเรื่องนี้และหลักจริยธรรมที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวัง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว มีการเผยแพร่เอกสารงานวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์จีนที่ได้อธิบายถึงการกำหนดพันธุกรรมของตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งจุดกระแสความห่วงกังวลในแง่ของจริยธรรมขึ้นตามมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image