คอลัมน์ไฮไลต์โลก: “นักรบหมาป่า” การทูตยุคใหม่จีน!

เอเอฟพี

หลายคนอาจสงสัยหรือไม่คุ้นหูกับคำตราหน้าการดำเนินการทูตอันเกรี้ยวกราดของจีนอยู่ในขณะนี้ว่า Wolf Warrior หรือ นักรบหมาป่า ที่โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกงเมื่อเร็วๆนี้ ก็เพิ่งพูดถึงการเดินหน้าผลักดันกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงของจีนว่าเป็น “นโยบายนักรบหมาป่า” ที่ดีแต่จะใช้กำลังและทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว

Wolf Warrior เป็นคำที่มีการใช้ให้เห็นทั้งในสื่อทางการจีนและสื่อตะวันตก ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นสไตล์การทูตของจีนที่ดุดันก้าวร้าว ซีเอ็นเอ็นระบุว่าแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนักการทูตจีนระดับสูงอย่าง หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า จีนไม่เคยหาเรื่องใครหรือรังแกผู้อื่น แต่จีนมีหลักการและความกล้าหาญที่จะตอบโต้การดูหมิ่นสบประมาทจีน

ซีเอ็นเอ็นบอกว่าการทูตแบบนักรบหมาป่าของจีนแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวิถีการทูตแบบเดิมๆ ซึ่งจีนดำเนินมาในช่วง 2-3 ทศวรรษก่อน ที่ยังมีความนุ่มนวลอยู่ แต่การทูตแบบนักรบหมาป่าจะเป็นแนวทางที่ดุดัน มักใช้ถ้อยคำตอบโต้เผ็ดร้อนผ่านถ้อยแถลง ทางโซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้โดยตรงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจีนหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การทูตนักรบหมาป่า ถูกระบุว่ามาจากชื่อภาพยนตร์ภาคต่อแนวแอคชั่นปลุกความรักชาติของจีนเรื่อง “Wolf Warrior” ที่เข้าฉายในไทยใช้ชื่อ “กองพันหมาป่า” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน โดยเป็นเรื่องราวที่ตัวเอกของเรื่อง ไล่ต่อสู้กับอริศัตรูทั้งในและนอกประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติจีน

Advertisement

ภาคแรกของหนังภาคต่อเรื่องนี้ออกฉายในปี 2015 ทำเงินได้มากกว่า 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 545 ล้านหยวน (ราว 2,432 ล้านบาท) ในบ็อกซ์ออฟฟิศ

ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ทำให้มีภาค 2 ออกมาอย่างรวดเร็วในปี 2017 และเป็นหนังที่ทำเงินรายได้สูงสุดของจีนในช่วงเวลานั้น โดย “Wolf Warrior 2” เป็นเรื่องราวของทหารจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน(พีแอลเอ) ถูกส่งไปประเทศในแอฟริกา เพื่อช่วยชีวิตพลเรือนชาวจีนกลับประเทศ

หนังมีคำโปรยว่า “แม้จะอยู่ห่างไกลเป็นพันๆไมล์ ใครก็ตามที่ปรามาสจีน จะต้องชดใช้”

Advertisement

มีการหยิบยกเหตุการณ์ทางการทูตของจีน เทียบเคียงกับหนังเรื่องนี้ เป็นกรณีที่นายจ้าว ลี่เจียน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของสถานทูตจีนประจำปากีสถาน ได้เริ่มทวีตตอบโต้เสียงวิจารณ์จีนของรัฐบาลสหรัฐทางทวิตเตอร์ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2019 โดยบอกว่าสหรัฐไม่มีสิทธิที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์จีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในขณะที่ตัวเองยังมีปัญหาทั้งการเหยียดผิว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และความรุนแรงเรื่องอาวุธปืน

ถ้อยคำตอบโต้ดังกล่าวสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับ ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐในขณะนั้น ที่ตอกกลับด้วยการเรียกนายจ้าวว่าเป็นความอัปยศของพวกเหยียดเชื้อชาติ

หลังจากนั้นนักการทูตจีนที่ประจำการอยู่ทั่วโลกเริ่มใช้กลยุทธ์ทำนองนี้ โดยใช้ “ทวิตเตอร์” ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มต้องห้ามในจีนมายาวนาน ในการดำเนินการทูตแบบนักรบหมาป่า

หวา ชุนหยิง อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศจีน หัวหน้าของนายจ้าวที่ปัจจุบันได้เลื่อนขั้นเป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศ ก็ออกมาตอบโต้เสียงวิจารณ์จีนบนทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน หลังจากที่เธอเพิ่งเริ่มใช้ทวิตเตอร์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนตอนนี้มียอดผู้ติดตามถึงเกือบ 500,000 ฟอลโลเวอร์

หลิว เสี่ยวหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหราชอาณาจักร เป็นนักการทูตจีนอีกคนที่นิยมการทูตแบบนักรบหมาป่า โดยมักใช้ทวิตเตอร์โจมตีกลับพวกที่ชอบวิจารณ์จีนในยุโรป

แต่ล่าสุดเจ้าตัวตอบโต้ผ่านกระบอกเสียงทางการจีนว่า คำว่า นักรบหมาป่า กำลังทำให้เกิดความเข้าใจผิดในนโยบายต่างประเทศของจีน ที่เป็นนโยบายแห่งความสงบสันติที่เป็นอิสระ แต่บางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไม้แข็งกันบ้าง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image