มะกันแย่หนัก! ว่างงานพุ่ง 42 ล้านคน ตัวเลขส่งออก-นำเข้าลดฮวบ

สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ในประเทศ โดยล่าสุดตัวเลขการว่างงานในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นทะลุ 42 ล้านคนแล้ว

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้แจ้งว่าเป็นผู้ตกงานใหม่เพิ่มขึ้น 1.87 ล้านคน ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 249,000 คน แต่ยังคงถือว่ามากกว่าตัวเลขที่เคยบันทึกไว้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ถึงเกือบสามเท่า

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าตัวเลขดังกล่าวรวมถึงสิ่งบ่งชี้อื่นๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในตลาดแรงงานไม่ได้กำลังปรับตัวดีขึ้นแต่มันย่ำแย่น้อยลง เนื่องจากการไล่คนงานออกอันเป็นผลจากการปิดธุรกิจหลังมีการบังคับใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในสหรัฐกำลังลดน้อยลง

แม้ตัวเลขผู้ที่ถูกให้ออกจากงานจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 42 ล้านคน นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา แต่ตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีผู้รับสิทธิช่วยเหลือสำหรับคนว่างงานนับจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 21.5 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนอีกหลายล้านที่ถูกปฏิเสธการรับสิทธิประโยชน์ผู้ว่างงาน หรืออาจได้รับการว่าจ้างให้กลับเข้าไปทำงานใหม่แล้ว

Advertisement

ตัวเลขการว่างงานดังกล่าวสูงถึง 20% จากตัวเลขเดิมที่ 14.7% ในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นตัวเลขการว่างงานที่สูงที่สุดในรอบ 90 ปีของสหรัฐ อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีแรงงานของสหรัฐเชื่อว่าจำนวนตัวเลขการว่างงานจะลดลง 10% ภายในสิ้นปีนี้ เพราะตำแหน่งงานหลายอย่างจะกลับมาโดยเร็วหลังการเปิดเมือง

ไม่เพียงแต่ตัวเลขการว่างงานที่เป็นสัญญาณลบ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐก็เปิดตัวเลขการส่งออกและนำเข้าสินค้าในเดือนเมษายนซึ่งก็ตกลงอย่างหนักเช่นกัน ขณะที่ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 49.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผลกระทบที่ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวลง รวมถึงการขนส่งสินค้าทั่วโลกที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้น

เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนมีนาคม การส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐลดลงมากกว่า 20% คิดเป็นมูลค่า 39 พันล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 151.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าลดลง 200.7 พันล้านดอลลาร์ หรือลดลง 13.7% คิดเป็นมูลค่า 32 พันล้านดอลลาร์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image