ที่มา | นสพ.มติชน 7 มิถุนายน 2563 |
---|---|
ผู้เขียน | น.ส. ดวงกมล เกียรติบำรุง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี |
เช้าตรู่ของวันอังคารที่ 28 เมษายน 2563 ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิราคานธี กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เข็มนาฬิกาตีบอกเวลา 02.15 น. เครื่องบินเที่ยวบินพิเศษโดยสายการบิน NokScoot นำคนไทยที่ตกค้างในอินเดียตอนเหนือชุดแรกจำนวน 200 คน เดินทางกลับประเทศ ถูกดันถอยหลังออกจากจุดจอดเครื่องบิน เคลื่อนตัวไปตามลานบินและเหินทะยานสู่น่านฟ้าสีเข้มยามค่ำคืน เครื่องบินลอยตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับความปิติยินดีของคนไทยทั้ง 200 คน ที่จะได้เหยียบแผ่นดินบ้านเกิดอีกครั้งในอีก 3-4 ชั่วโมงข้างหน้า
ณ เวลาเดียวกัน เบื้องหลังภาพความปิติยินดีในห้องผู้โดยสารของเที่ยวบินพิเศษ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หรือนักการทูตไทยในอินเดีย นั่งตัวชื้นเหงื่ออยู่ในชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE coveralls) บนรถตู้ หลังจากปฏิบัติภารกิจอำนวยความสะดวกคนไทยชุดแรกกลับบ้าน ประสบความสำเร็จไปอย่างเรียบร้อย
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 รัฐบาลอินเดียประกาศปิดประเทศโดยสมบูรณ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลสั่งระงับการทำการบินของเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศทั้งหมด ระงับการให้บริการขนส่งสาธารณะและการให้บริการรถไฟทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ ห้ามประชาชนออกจากบ้าน ห้ามการเคลื่อนย้ายบุคคลและยานพาหนะ ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นและเหตุผลทางสุขภาพเท่านั้น รวมทั้งมีการตั้งด่านตำรวจบนท้องถนนกระจายทั่วเมือง เพื่อตรวจจับบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์
วันแรกของการล็อกดาวน์ ความเงียบเข้าปกคลุมพื้นที่ อินเดียทั้งประเทศเสมือนจะเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่ง นักการทูตหลายประเทศเริ่มจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่ออพยพคนชาติของตนเองกลับประเทศ ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ พวกเรานักการทูตซึ่งเป็นตัวละครหลักในการพาคนไทยในต่างประเทศกลับบ้าน แม้จะได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันโดยทีมประเทศไทย ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าการอพยพคนไทยในประเทศที่มีขนาดใหญ่ 3.28 ล้านตารางกิโลเมตรภายใต้เงื่อนไขข้างต้น เป็นเหมือนภารกิจที่ไม่น่าจะประสบความสำเร็จได้ (Mission Impossible) แต่เราต้องหาทางทำให้บรรลุผลสำเร็จ (Make it happen) ให้ได้ ในเมื่อนักการทูตประเทศอื่นๆ ยังอพยพคนชาติเขาออกไปได้ พวกเรานักการทูตไทยก็ต้องทำได้เช่นกัน เราให้กำลังใจตัวเองเสมอว่า ไม่ว่ายังไงเราก็ต้องพาคนไทยกลับบ้านให้ได้
สถานเอกอัครราชทูตเปิดให้คนไทยในอินเดียลงทะเบียนออนไลน์แสดงความประสงค์กลับไทย โดยในการลงทะเบียนครั้งที่ 1 มีคนไทยลงทะเบียนประมาณ 1,500 คน จนกระทั่งเพิ่มเป็น 2,560 คน ภายหลังการลงทะเบียนรอบที่ 3 สถานเอกอัครราชทูตผลักดันและติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อขอจัดเที่ยวบินพิเศษอพยพคนไทย แล้วข่าวดีก็มาถึงในวันที่ 17 เมษายน สถานเอกอัครราชทูตได้รับโควต้าของวันที่ 28 เมษายน ในการพาคนไทยกลับบ้าน จำนวน 200 คน
ภายหลังจากเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ เราวางมือจากภารกิจอื่นตรงหน้า มาเตรียมการจัดไฟลท์อพยพทันที ทีมงานจัดทำรายชื่อคนไทย 200 คนแรกที่จะได้เดินทางกลับไทย โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านอายุ ข้อจำกัดทางสุขภาพ เงื่อนไขด้านการตรวจลงตรา (วีซ่า) และก่อนที่ทีมประเทศไทยจะโทรศัพท์แจ้งข่าวดีกับคนไทยทั้ง 200 คน เราจัดเตรียมข้อมูล อาทิ วันและเวลาเดินทาง ราคาบัตรโดยสาร วิธีการชำระเงิน น้ำหนักกระเป๋า การเดินทางมาจุดรวมพล ขอรับที่อยู่โดยละเอียด เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในมือ
การเตรียมการครั้งนี้ ที่อยู่โดยละเอียดมีความสำคัญมาก เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดทำให้คนไทยไม่สามารถเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตเองได้ สถานเอกอัครราชทูตจึงต้องส่งรถไปรับคนไทยทั้งหมด 200 คนที่บ้าน ทีมงานจึงต้องลงรายละเอียดที่อยู่ของทุกคนใน Google Map เพื่อจัดทำเส้นทาง คำนวณระยะเวลาเดินทางและจำนวนรถที่จำเป็นต้องใช้ หลังจากนั้นข้อมูลทั้งหมด ได้แก่ รายชื่อและที่อยู่คนไทย รายละเอียดรถ พนักงานขับรถทุกคน เส้นทางเดินรถทุกเส้นทาง ยังต้องถูกส่งให้กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เพื่อขอรับใบผ่านทาง (Movement Pass) ล่วงหน้า สำหรับพนักงานขับรถแสดงต่อตำรวจในระหว่างเส้นทาง โดยเส้นทางที่ไกลที่สุดในครั้งนี้ คือ เส้นทางแคชเมียร์-กรุงนิวเดลี ซึ่งต้องขับรถข้ามภูเขาหลายลูก กว่าจะถึงกรุงนิวเดลีใช้เวลาเดินทางกว่า 18 ชั่วโมง
ไม่เพียงแค่การจัดทำข้อมูลและเส้นทางการเคลื่อนย้ายคน 200 คน จากทั่วอินเดียตอนเหนือเท่านั้นที่ทำเอาทีมงานถึงกับมึนงง การขอรับการอนุมัติการทำการบิน (Flight Clearance) สำหรับเที่ยวบินพิเศษก็ทำเอาทีมงานลุ้นจนใจหายใจคว่ำ เวลาล่วงเลยมาถึงวันที่เราจะต้องเริ่มส่งรถออกไปรับคนไทยตามเส้นทางต่างๆ แล้ว แต่สถานเอกอัครราชทูตยังไม่ได้รับ Flight Clearance จากทางการอินเดีย และหาก Flight Clearance ยังไม่ได้รับการอนุมัติ กระทรวงการต่างประเทศอินเดียก็จะยังไม่อนุมัติ Movement Pass ให้เราเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ขั้นตอนการส่งรถออกไปรับคนไทยล่าช้าขึ้น
ทีมงานยกหูโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือน และกระทรวงการต่างประเทศอินเดียที่เรารู้จัก เพื่อติดตามว่าเรื่องติดค้างอยู่ตรงไหน จนทราบความว่า เจ้าหน้าที่สายการบินติดมาตรการล็อกดาวน์อยู่บ้าน จึงไม่สามารถไปดำเนินการเรื่อง Flight Clearance ที่กรมการบินพลเรือนได้ ได้ยินดังนั้นจึงรีบส่งรถของสถานเอกอัครราชทูตไปรับเจ้าหน้าที่สายการบิน เพื่ออำนวยความสะดวก จนดำเนินการทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อย และได้รับ Flight Clearance พร้อมทั้ง Movement Pass มาในช่วงค่ำ ทันเวลาเฉียดฉิวในการส่งรถออกไปตามเส้นทางต่างๆ พอดิบพอดี
นอกจากนี้ การขอเอกสาร Fit-to-Fly Certificate (FtF) ในอินเดียทำได้ค่อนข้างยากมาก เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งปิดทำการแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เพื่อดึงบุคลากรไปยัง COVID Unit ดังนั้น โรงพยาบาลที่ปิด OPD จะปฏิเสธการตรวจเพื่อออกเอกสาร FtF ให้ สถานเอกอัครราชทูตต้องการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือคนไทยให้ลำบากน้อยที่สุด เราจึงติดต่อและได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคุณหมอชาวไทยที่ปฏิบัติงานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี ช่วยติดต่อประสานหาทีมแพทย์ กระทั่งท้ายที่สุดเราได้ทีมแพทย์ 4 คน และพยาบาล 5 คน ที่ยินดีมาช่วยตรวจร่างกายและออกเอกสาร FtF ให้
หลังจากเตรียมงานมา 1 สัปดาห์ วันนี้ที่รอคอยก็มาถึง พวกเราเหล่านักการทูตถอดเสื้อแจ็คเกตทางการ และสวมชุด PPE coveralls เตรียมตัวตั้งแต่เช้าตรู่ เข็มนาฬิกาตีบอกเวลา 09.00 น. คนไทยชุดแรกเดินทางมาถึงสถานเอกอัครราชทูต เราจัดสถานที่นั่งพักรอ จุดตรวจสุขภาพ จุดชำระเงิน จุดรับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นที่ทีมแม่ครัวทำเนียบเอกอัครราชทูตปรุงสุดฝีมือรอรับคนไทย โดยภารกิจส่งคนไทยกลับบ้านครั้งนี้ ทำให้เรามีโอกาสเปิดพื้นที่สถานเอกอัครราชทูต หรือ “Thai House” นี้ได้อย่างเต็มที่ คนไทยกว่า 200 คน เข้ามาทำธุรกรรมต่างๆ และพักพิงอยู่ในอาณาบริเวณสถานเอกอัครราชทูตตั้งแต่เช้าถึงค่ำ บ้างนั่งเล่นในห้องเอนกประสงค์ บ้างนั่งเล่นเอนหลังนอนบนโซฟาในห้องรับรอง ซึ่งปกติเป็นพื้นที่หารือข้อราชการของเอกอัครราชทูต นักการทูต และแขกภาคธุรกิจ
เราดีใจที่มีโอกาสได้เปิด Thai House แห่งนี้ สถานเอกอัครราชทูตควรเป็นสถานที่ที่คนไทยรู้สึกสบายใจและอุ่นใจที่ได้มายามประสบปัญหาในต่างประเทศ เพราะหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลทุ่มเงินสร้างสถานที่นี้ให้เรา ก็เพื่อเราใช้ทำงานให้แก่คนไทยในต่างประเทศทุกคน โดยไม่ใช่พื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึง 19.00 น. ทีมงานเริ่มประกาศเรียกคนไทยเพื่อขึ้นรถออกไปท่าอากาศยาน จนกระทั่งเวลา 21.22 น. คนไทยจำนวน 200 คนเดินทางถึงท่าอากาศยาน และใช้เวลาอีกกว่า 3 ชั่วโมงกว่าๆ ทุกคนผ่านกระบวนการตรวจเอกสาร วัดอุณหภูมิร่างกาย Check-in กระเป๋าเดินทาง ผ่านกระบวนการตม. จนเสร็จสิ้น และเข้าไปนั่งรอบริเวณประตูขึ้นเครื่อง เวลาประมาณ 01.15 น. สายการบินเริ่มประกาศเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง พวกเราเหล่านักการทูตภายใต้ชุด PPE coveralls ชุ่มเหงื่อตัวใหญ่ ยังคงเดินไปเดินมาบริเวณหน้าประตูขึ้นเครื่อง และหวังใจว่าจะไม่มีใครที่อุณหภูมิสูง และถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องในด่านสุดท้ายนี้ ในท้ายที่สุด เวลา 02.05 น. ผู้โดยสารคนสุดท้ายเดินหายลับเข้าไปในประตูเครื่องบิน เวลาผ่านไปหนึ่งอึดใจ เข็มนาฬิกาตีบอกเวลา 02.15 น. เครื่องบินเที่ยวบินพิเศษที่จอดอยู่ด้านหลังประตูขึ้นเครื่อง หมายเลข 15 ถูกดันถอยหลังออกจากจุดจอดเครื่องบิน
“It always seems impossible until it is done.” เราเชื่อมั่นเสมอว่า งานใหญ่ทุกงานที่ประสบความสำเร็จสวยงาม เป็นผลจากความสามัคคี ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผลของความรับผิดชอบและความรู้หน้าที่ตัวเอง งานที่เรามองเห็นว่าใหญ่เท่าภูเขาอาจทำให้เราหวั่นใจ แต่หากเราเริ่มแบ่งมันเป็นหินก้อนเล็กๆ แบ่งก้อนหินคนละก้อนสองก้อน เราก็จะเริ่มมองภาพออกว่า เราจะจัดการกับมันได้อย่างไร
ภารกิจส่งคนไทยในอินเดียกลับบ้านก็เช่นเดียวกัน การเตรียมเที่ยวบินพิเศษอพยพคนไทยเป็นภารกิจที่อาศัยแรงกายและแรงใจ การเตรียมการวางแผนอย่างรอบคอบภายใต้สภาวะความกดดันรอบด้าน และความไม่แน่นอนหลายๆ ประการ แต่ภารกิจนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทีมประเทศไทยในกรุงนิวเดลี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หน่วยแพทย์ เจ้าหน้าที่สายการบิน และผู้ที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือทุกคน ไม่ว่าจะทำงานเล็กหรืองานใหญ่ ทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ภารกิจนี้ขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น
ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ในอินเดียทั้ง 4 แห่ง ส่งคนไทยกลับประเทศไทยไปแล้วกว่า 1,886 คน ภารกิจการส่งคนไทยกลับบ้านเกิดในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทำให้เราในฐานะคนไทย และข้าราชการไทย รู้สึกดีใจและปลื้มปริ่มใจมาก โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่ได้เห็นรอยยิ้มของความปิติของคนไทยที่โบกมือลาก่อนที่จะหายลับเข้าไปหลังประตูขึ้นเครื่องบิน
ในฐานะนักการทูต เราดีใจที่เราได้มีส่วนร่วมและทุ่มเทพลังกายพลังใจในภารกิจพาคนไทยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย