นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่าโรคระบาดที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์ป่าที่อาจจะติดต่อมายังมนุษย์ ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ซ้ำอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์รุกรานธรรมชาติ กระบวนการดังกล่าวก็จะยิ่งเร่งความเร็วขึ้นตามมา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่มีต้นกำเนิดในลักษณะดังกล่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ต่างจากเคราะห์ซ้ำกรรมซัด และหากมองย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดภัยคุกคามในลักษณะนี้ขึ้นอย่างน้อย 6 ครั้ง ตั้งแต่โรคซาร์ส เมอร์ส อีโบลา ไข้หวัดนก และไข้หวัดหมู ก่อนที่จะมาเจอกับไวรัสโคโรนาตัวล่าสุด และกระสุนลูกที่ 6 นี้ยิงเข้าเป้า
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลของอังกฤษได้ทำการศึกษาถึงรูปแบบและสถานที่ที่โรคอุบัติใหม่เหล่านี้มักจะเกิดขึ้น ภายใต้ความพยายามในการพัฒนาระบบที่จะช่วยคาดการณ์ว่าโรคจากสัตว์ป่าชนิดใดที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในระดับโลกที่จะพัฒนาหนทางที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ในอนาคตให้ดีขึ้น
ศ.แมทธิว เบย์ลิส จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลย้ำว่า โคโรนาไม่ใช่โรคระบาดใหญ่ครั้งสุดท้ายที่เราจะเผชิญ ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องจับตาดูโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ป่าให้มากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเห็นพ้องกันว่า การใช้ชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในผืนป่า อาทิ การแปลงผืนป่าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรและการเพาะปลูก มีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคที่มากขึ้น และยังช่วยให้โรคต่างๆ แพร่กระจายจากสัตว์ไปยังมนุษย์ได้เร็วขึ้นอีกด้วย