ผลวิจัยชี้ ‘ล็อกดาวน์’ ช่วยรักษาชีวิตนับล้าน ผ่อนคลายทำเสี่ยงสูง

ผลวิจัยชี้ ‘ล็อกดาวน์’ ช่วยรักษาชีวิตนับล้าน ผ่อนคลายทำเสี่ยงสูง

ผลวิจัยระหว่างประเทศที่ถูกเผยแพร่ออกมา 2 ชิ้น ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ช่วยรักษาชีวิตผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงตามมา

ผลวิจัยชิ้นแรกที่ทำโดยนักวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ได้วิเคราะห์ผลจากมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมใน 11 ประเทศในยุโรป และพบว่ามาตรการดังกล่าวมีผลอย่างสำคัญที่ช่วยลดปริมาณการติดเชื้อ ซึ่งเห็นผลได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีซามีร์ บาทท์ หนึ่งในผู้ร่วมทำวิจัยดังกล่าวระบุว่า การกล่าวอ้างใดๆ ว่าการแพร่ระบาดใหญ่แล้วยุติลงแล้วเป็นเรื่องที่ต้องปฏิเสธอย่างหนักแน่น เพราะขณะนี้เรากำลังยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดเท่านั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 หากมาตรการแทรกแซงและมาตรการเฝ้าระวังทั้งหมดถูกยกเลิกไปเป็นเรื่องจริงอย่างที่สุด

ทีมวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ประเมินว่า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมผู้คนราว 12-15 ล้านคนในออสเตรีย เบลเยียม อังกฤษ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี นอร์เวย์ สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์จะติดโควิด-19 หรือเป็นตัวเลขราว 4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่มาตรการล็อดาวน์สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึงราว 3.1 ล้านคน

Advertisement

ขณะที่ผลวิจัยชิ้นที่สองถูกทำขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์สหรัฐและตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ชี้ว่า มาตรการล็อกดาวน์ในจีน เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส และสหรัฐ ช่วยป้องกันหรือเลื่อนการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้คนใน 6 ประเทศดังกล่าวได้ถึงราว 530 ล้านคน

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเปรียบเทียบจำนวนการติดเชื้อก่อนและหลังการกำหนดมาตรการคุมเข้มทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับชาติ ซึ่งออกแบบมาเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพบว่าในช่วงต้นที่ไม่มีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมาใช้ ปริมาณการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 68% ต่อวันในอิหร่าน และเพิ่มขึ้น 38% ในอีก 5 ประเทศที่เหลือ ดังนั้นหากปราศจากมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนจะมีชีวิตอย่างยากลำบากในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image