ทุกข์ร้อนของคนไทยจากโควิด สอท.ในอังกฤษใส่ใจช่วยบรรเทา

แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการเตรียมพร้อมอย่างดี รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูง แต่อังกฤษก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เมื่อดูจากยอดผู้เสียชีวิตและเม็ดเงินที่รัฐได้ทุ่มเทลงไป เพื่อการประคับประคองและบริหารจัดการสถานการณ์ทั้งในด้านการควบคุมโรคระบาด และการบริหารจัดการผลกระทบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

ไอร์แลนด์ก็รับผลกระทบไม่น้อย แต่เนื่องจากมีระบบสังคมที่แตกต่าง การเตรียมการรับมือและมาตรการบริหารจัดการจึงแตกต่างออกไป ความสูญเสียจึงน้อยกว่า แต่ผลกระทบต่างๆ ที่กำลังตามมาคงจะไปในแนวทางเดียวที่เกิดกับอังกฤษ นั่นคือจะต้องเตรียมพร้อมอย่างมากในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในยุคนิว นอร์มอลหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

ในอังกฤษและไอร์แลนด์มีคนไทยอยู่พอสมควร โดยที่อังกฤษ มีคนไทยพำนักและมีถิ่นฐานประมาณกว่า 60,000 คน ในจำนวนนี้ที่เป็นนักเรียนและนักศึกษาไทยกว่า 7,000 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ไม่นับรวมนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และคณะต่างๆ ที่มาเยือนเฉลี่ยปีละกว่า 200,000 คนทุกปี

ขณะที่ในไอร์แลนด์ซึ่งเป็นเขตอาณาที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ดูแล มีคนไทยพำนักและมีถิ่นฐานอยู่ประมาณ 4,500 คน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานหรือผู้ที่สมรสกับชาวไอริชและตั้งรกรากเป็นการถาวร และมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไอร์แลนด์อีกจำนวนหนึ่ง

Advertisement

นับตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้นในยุโรปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ สถานทูตได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำแก่คนไทยผ่านทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเฟซบุ๊กของสถานทูตซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 30,000 คน รวมทั้งมีช่องทางให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนผ่านโทรศัพท์สายด่วนซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง LINE ของฝ่ายกงสุล ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยในอังกฤษและไอร์แลนด์เข้าถึงได้สะดวกที่สุด

นอกจากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์แล้ว สถานทูตยังอาศัยเครือข่ายชุมชนไทยที่ใกล้ชิดกับสถานทูตและวัดไทยทั่วทุกแห่งในอังกฤษที่เป็นศูนย์กลางชุมชนเป็นช่องทางติดต่อและกระจายข้อมูลข่าวสารให้แก่คนไทยในพื้นที่ด้วย ความเข้มแข็งสมัครสมานกลมเกลียวของชุมชนไทยทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสื่อสารติดต่อกับสถานทูตดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการติดต่อสื่อสารกับคนไทยในพื้นที่ในสภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นแนวทางหลักของสถานทูตคือการให้ข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะจากทางรัฐบาล เพื่อสร้างความตระหนักแต่ไม่ตระหนก และให้เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ซึ่งมีทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสำหรับคนทำงานที่ได้รับผลกระทบ และการขยายอายุวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวตกค้าง ฯลฯ

เมื่อมีสิ่งบ่งชี้ว่าทางการอังกฤษจำเป็นต้องประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สถานทูตได้กระตุ้นให้พี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีถิ่นพำนักถาวรในอังกฤษ เช่น นักเรียนและนักศึกษาไทยทั้งทุนรัฐบาลและทุนส่วนตัวมากกว่า 7,000 คน และนักท่องเที่ยว ทบทวนแผนและรีบเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องพำนักอยู่ต่อในอังกฤษกลับประเทศไทยไปได้กว่า 4,000 คน โดยสถานทูตได้อำนวยความสะดวกและให้บริการทุกด้าน เพื่อให้ชาวไทยเหล่านี้สามารถกลับมาตุภูมิได้ตามเงื่อนไขของสถานการณ์ในอังกฤษ และข้อกำหนดต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ การจัดหน่วยแพทย์อาสาเพื่อให้บริการตรวจร่างกายและออกเอกสาร Fit to Fly การให้บริการออกเอกสารประกอบการเดินทางผ่านระบบออนไลน์สำหรับผู้อยู่นอกลอนดอน และการจัดบริการแบบครบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวสำหรับผู้ที่สะดวกมาขอรับบริการด้านต่างๆ ที่สถานทูต บริการทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนปรัชญาการทำงานของสถานทูตที่ว่า “ทุกข์ร้อนของคนไทย สถานทูตใส่ใจ ช่วยบรรเทา”

สำหรับการให้บริการด้านต่างๆ ของสถานทูตภายใต้สภาวการณ์ล็อกดาวน์ของทางการอังกฤษนั้น แม้จะต้องลดระดับคนทำงานในสำนักงานลงให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพื่อร่วมมือกับมาตรการของทางการ แต่สถานทูตก็ไม่ได้ปิดทำการ โดยคนไทยสามารถติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือและบริการต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

นอกเหนือจากคนไทยที่สถานทูตได้กระตุ้นและให้การช่วยเหลือกว่า 4,000 คน ที่ได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยไปแล้วก่อนหน้านี้ สถานทูตยังได้ช่วยให้คนไทยที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น เป็นโรคร้ายแรงกะทันหันและเสี่ยงต่อชีวิต คนไทยตกค้างที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักในอังกฤษและไอร์แลนด์ให้กลับประเทศไทยไปอีกกว่า 40 คน แม้จะต้องเผชิญความยุ่งยากซับซ้อนจากข้อจำกัดด้านการสัญจรทางอากาศทั้งจากต้นทาง และมาตรการควบคุมโรคต่างๆ ที่ประกาศใช้ในประเทศไทย

เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในอังกฤษ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มิได้มีถิ่นฐานถาวรค่อนข้างมาก ความต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยทุกข์ร้อนต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น สถานทูตจึงได้จัดเที่ยวบินพิเศษจำนวน 3 เที่ยวบินในวันที่ 17 และ 30 พฤษภาคม และ 14 มิถุนายน เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่มีความจำเป็นต้องกลับประเทศไทย เช่น นักศึกษาที่ปิดภาคการศึกษา นักท่องเที่ยวตกค้าง ผู้มีปัญหาสุขภาพและต้องกลับไปรักษาพยาบาลที่ไทย ฯลฯ เกือบ 800 คนกลับประเทศไทย และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อผ่อนเบาความทุกข์ร้อนของคนไทยในพื้นที่ความรับผิดชอบในทุกเรื่องอย่างไม่รีรอ

ด้วยปรัชญาการทำงานของสถานทูตที่  “ทุกข์ร้อนของคนไทย สถานทูตใส่ใจ ช่วยบรรเทา” ข้อคำนึงที่สำคัญในสภาวการณ์ที่ผู้คนกำลังจิตตกและประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตเนื่องจากขาดรายได้ การช่วยเหลือประชาชนทุกด้านจึงได้พยายามทุกทางที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ประชาชนจำต้องแบกรับให้น้อยที่สุด อาทิ ในการจัดเครื่องบินรับคนไทยกลับประเทศ สถานทูตได้สืบเสาะ ค้นหา คัดเลือกและเจรจาต่อรอง โดยใช้ช่องทางการทูตและอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนไทยที่จะเดินทางกลับบ้านจะได้เดินทางโดยสายการบินที่ดีที่สุดที่มี ด้วยความสะดวกที่สุด และประหยัดทรัพย์ที่สุดเพื่อให้พี่น้องชาวไทยที่กำลังทุกข์ร้อนสามารถกลับประเทศไทยด้วยความสบายใจ เป็นต้น

นอกจากนี้เพื่อให้การเดินทางกลับประเทศไทยเป็นไปด้วยความปลอดภัยและสอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลไทยที่เอาใจใส่ด้านสุขภาพของคนไทย ทั้งที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศและคนไทยที่อยู่ในประเทศ ตลอดจนให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมโรคระบาดที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบ รวมทั้งโดยข้อคำนึงที่จะให้การเดินทางกลับประเทศไทยของชาวไทยในอังกฤษและไอร์แลนด์สร้างภาระด้านการเงินให้แก่พี่น้องชาวไทยที่จะเดินทางกลับให้น้อยที่สุด สถานทูตได้ประสานงานกับหน่วยแพทย์ไทยอาสา เปิดให้บริการตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ Fit to Fly แก่ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทย โดยได้จัดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19-22 มีนาคม แก่ผู้เดินทางกว่า 500 ราย รอบที่สองระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม สำหรับผู้เดินทางโดยเที่ยวบิน พิเศษในวันที่ 17 พฤษภาคม รอบที่สามระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม แก่ผู้ที่จะเดินทางโดยเที่ยวบินพิเศษกลับประเทศไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม และรอบที่สี่ในวันที่ 11-13 มิถุนายน แต่ละรอบให้บริการประชาชนแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายเกือบ 200 รายทุกครั้ง

บริการดังกล่าวได้จัดขึ้นที่ฝ่ายกงสุลของสถานทูตบนข้อคำนึงถึงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม รวมทั้งลดโอกาสและความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้ขอใช้บริการ มีการจัดคิวและที่นั่งรออย่างเป็นระบบ มีฉากกั้นที่เหมาะสม และมีอุปกรณ์พีพีอีป้องกันสำหรับแพทย์ ซึ่งบริการนี้จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการขอใบรับรองดังกล่าวจากแพทย์ในอังกฤษและไอร์แลนด์นั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและเป็นเรื่องยุ่งยาก

สถานทูตยังได้เตรียมหน้ากากผ้ากันไวรัสที่ได้มาตรฐานและสามารถใช้งานได้หลายครั้งแจกจ่ายให้แก่พี่น้องชาวไทยที่จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินพิเศษทุกเที่ยว เพื่อให้นำไปใช้บนเครื่องบินระหว่างการเดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบินพิเศษดังกล่าวทั้ง 3 เที่ยวบินด้วย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในบริการด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนไทยจาก “ใจ” ของสถานทูต และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านการรักษาสุขอนามัยและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคของสายการบินในปัจจุบัน ที่กำหนดให้ผู้เดินทางทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image