คอลัมน์ไฮไลต์โลก: อิทธิพลจีนVSสหรัฐ

แฟ้มภาพรอยเตอร์

เมื่อพูดถึง จีน กับ สหรัฐอเมริกา เป็นมหาอำนาจคู่ปรับต่างขั้วอุดมการณ์ ที่ทรงอิทธิพลบทบาทต่อโลก รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนของเราเองด้วย ที่สองมหาอำนาจโลกต่างต่อสู้ช่วงชิงอิทธิพลอำนาจในภูมิภาคกันมานาน

แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนมีโพลสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคนี้ออกมาใหม่ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อชาติในอาเซียนล้ำหน้าสหรัฐไปไกลแล้วและยังทรงอิทธิพลทางการเมืองเหนือกว่าสหรัฐอยู่เล็กน้อย แม้ผู้คนในชาติอาเซียนจะสนับสนุนค่านิยมประชาธิปไตยอย่างหนักแน่นอยู่ก็ตาม ท่ามกลางการคาดหมายว่าช่องว่างทางอิทธิพลอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐในภูมิภาคนี้จะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากกว่านี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

โพลนี้จัดทำโดยศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (ซีเอสไอเอส) ที่สำรวจทัศนะของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์หรืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐใน 6 ชาติอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ รวม 188 คน และจากประเทศฟิจิอีก 13 คน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปี 2019 ซึ่งยังไม่มีปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลสำรวจที่ได้ทำให้เห็นภาพชัดของการทรงอิทธิพลเพิ่มขึ้นของจีน ความวิตกกังวลของชาติในภูมิภาคนี้ที่มีต่อการต่อสู้ทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจต่างขั้ว และ ผลกระทบต่อชาติอาเซียน

Advertisement

โดยคำถามที่ให้กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบ 3 ประเทศที่พวกเขาเห็นว่าทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้เลือกตอบจีนมากถึง 94.5% ตามด้วยสหรัฐ 92% แต่ผลคะแนนที่มีสัดส่วนต่างกันอยู่มากเมื่อถามว่าชาติไหนจะมีอิทธิพลมากที่สุดในช่วง 10 ปีข้างหน้า มีผู้เลือกตอบจีน 94.5% สหรัฐ 77%

ต่อทั้งสองคำถามข้างต้นญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย มีคะแนนตามมาเป็นอันดับ 3 และ อันดับ 4 ตามลำดับ

ในประเด็นความทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ผลสำรวจออกมาเป็นเอกฉันท์ให้จีนนำโด่ง โดยให้เลือกตอบ 3 ประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด จีนได้ 98% สหรัฐ 70.6% และ ญี่ปุ่น 66.7% และหากมองไปในอีก 10 ข้างหน้า 96%มองว่าจะยังคงเป็นจีนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ตามด้วยสหรัฐ 56.7% และ ญี่ปุ่น 56.2%

Advertisement

แพท บัคเคน ผู้อำนวยการโครงการพันธมิตรสหรัฐของซีเอสไอเอสและผู้เขียนรายงานการศึกษานี้ ให้ความเห็นว่าความพยายามของจีนในการให้ได้มาซึ่งอิทธิพลอำนาจในภูมิภาคนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นแนวโน้มนี้ต่อไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนให้สหรัฐต้องระวังในการคงอิทธิพลอำนาจของตนเองเอาไว้ในภูมิภาคนี้

บัคเคนยังตั้งข้อสังเกตถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงว่าอาจเป็นผลหลังจากที่สหรัฐมุ่งให้ความสนใจในภูมิภาคนี้ลดน้อยลงนับจากสงครามเวียดนาม โดยสหรัฐหันไปให้ความสนใจกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามถึง 85% ยังคงเชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตยว่าเป็นผลดีต่อเสถียรภาพและความรุ่งเรืองของประเทศตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในไทยและฟิลิปปินส์ รวมถึงอินโดนีเซีย

ขณะที่ราว 53% มองว่าบทบาทของจีนจะเป็นประโยชน์สำหรับภูมิภาค แต่ 46% เห็นว่าจะเป็นภัยต่อภูมิภาค โดยความเห็นในแง่ลบนี้มีเด่นชัดในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสองชาติที่มีปัญหากระทบกระทั่งกับจีนในทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ถือครองดินแดนในพื้นที่ดังกล่าวเกือบทั้งหมด

ขณะเดียวกันความท้าทายกดดันจากมหาอำนาจภายนอกภูมิภาค ก็ยังสร้างความวิตกกังวลให้กับชาติอาเซียน ที่กลุ่มตัวอย่างมองว่าชาติสมาชิกอาเซียนยังไม่ผนึกกำลังกันเองในกลุ่มมากเพียงพอ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มอาเซียนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image