ทีมไทเปร่วมใจ ส่งคนไทยกลับบ้าน

ไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างแดน จากตัวเลขของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเป มีคนไทยในไต้หวันประมาณ 65,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานผ่านกรมการจัดการงานอย่างถูกกฎหมาย ที่เหลือร้อยละ10 เป็นนักเรียนและนักศึกษา นักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่เข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมาย โดยตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน – 19 มิถุนายน สำนักงานการค้าฯ ได้ส่งคนไทยกลับประเทศแล้วรวม 1,030 คน

ในการส่งคนไทยกลับประเทศไทยสำนักงานการค้าฯ ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อประสานงานและช่วยเหลือคนไทยขึ้น โดยภารกิจช่วยเหลือคนไทยถือเป็นภารกิจหลักที่ข้าราชการของสำนักงานการค้าฯ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้แบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่ก็มีการประสานงานกันตลอดเวลา โดยผู้รับผิดชอบหลักคือหัวหน้าฝ่าย 4 คนที่รับหน้าที่ประสานงานในส่วนหน้าติดต่อกับคนไทย นอกจากนี้ยังมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานแรงงานไทยทั้งสาขาไทเปและเกาสง เป็นผู้รับหน้าที่ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาให้แก่แรงงานไทยโดยเฉพาะ และยังทำเกินหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ใช่แรงงานในเขตพื้นที่ดูแลของตนด้วย

ส่วนหลังบ้านคือการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐไทยและไต้หวัน รวมถึงสายการบิน โดยงานในส่วนนี้แบ่งเป็นการประสานงานกับกรมการกงสุลและจัดเตรียมเอกสารเพื่อการเดินทางกลับ ซึ่งคือการจัดทำแบบฟอร์มลงทะเบียนเพื่อบันทึกข้อมูลรายชื่อและสำรวจจำนวนผู้ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อประสานงานขอโควตาจำนวนคนไทยและวันที่จะสามารถกลับไทยได้กับกรมการกงสุล งานหลังบ้านในส่วนนี้ต้องมีทีมงานจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ เช่นใบรับรองการเดินทางกลับไทย รายชื่อการยอมรับการกักตัว และแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ในการติดตามหากติดเชื้อ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังต้องการประสานงานกับสายการบิน เมื่อได้วันเวลาและจำนวนคนไทยที่จะสามารถจัดเที่ยวบินได้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะประสานงานกับสายการบินต่างๆ เพื่อให้ได้สายการบินที่เสนอราคาถูกที่สุดเพื่อลดภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับคนไทยให้ได้มากที่สุด ตัวเลือกที่มีคือหากได้โควตาคนกลับ 110 คนขึ้นไปการเช่าเหมาลำจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากหารเฉลี่ยแล้วราคาค่าตั๋วต่อคนจะถูกกว่าการใช้สายการบินพาณิชย์ แต่หากได้โควตากลับ 50 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 110 คน การใช้สายการบินพาณิชย์ซึ่งมีเที่ยวบินอยู่แล้วจะเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามกรณีที่ได้รับโควตามากระชั้นชิด การเลือกสายการบินที่สามารถจัดเครื่องบินมารับให้ทันเวลา และมีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล ไม่สูงเกินไปเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เห็นได้จากการจัดเที่ยวบินใน 3 เที่ยวล่าสุดในวันเดียวกับที่ต้องใช้บริการสายการบินถึง 3 สาย เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

นอกจากการจัดหาเครื่องบินตามวันเวลาและจำนวนผู้โดยสารตามที่ได้รับโควต้าจากทางไทยแล้ว เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ประสานหน่วยงานภาครัฐของไต้หวัน อาทิ กรมการบินพลเรือน กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน เพื่อเร่งรัดเรื่องการอนุมัติเส้นทางการบิน ซึ่งสำนักงานการค้าฯ จะต้องประสานงานกับหน่วยงานของทางการไต้หวันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับการอนุมัติก่อนการบินทุกครั้ง

Advertisement

ประการต่อมาคือการประสานงานกับคนไทยในไต้หวัน การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นส่วนที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก สำนักงานการค้าฯ เลือกใช้โซเชียลมีเดียในการประสานงาน เนื่องจากต้องสื่อสารกับคนหมู่มาก การไล่โทรศัพท์ทีละคนไม่เหมาะสมกับสภาพการทำงานเท่าไหร่นัก ช่องทางที่เลือกใช้ ได้แก่ เฟซบุ๊กสำนักงานการค้าฯ และไลน์กลุ่ม “คนไทยกลับบ้าน” ซึ่งเป็นชื่อที่ตรงกับความรู้สึกของคนไทยที่กำลังรอกลับบ้านในขณะนี้

ในส่วนของเฟซบุ๊กจะเป็นที่ประชาสัมพันธ์การลงทะเบียน โดยคนที่ลงทะบียนแล้วสามารถสอบถามประมาณการลำดับการได้กลับ และเรื่องอื่นๆ เช่น การต่อวีซ่า การเสียค่าปรับเพราะอยู่เกินวีซ่า และความจำเป็นส่วนตัวอื่นๆ กับเจ้าหน้าที่ได้ ผู้ที่ลงทะเบียนแล้วสามารถติดต่อมาทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่จะให้ลิงค์ไลน์กลุ่มคนไทยกลับบ้าน เพื่อให้คนไทยที่รอกลับได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็ว และสามารถสอบถามได้ตลอดเวลา ซึ่งก็มีคนสอบถามเข้ามาเรื่อยๆ กระทั่งเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง เจ้าหน้าที่พยายามตอบทุกคำถามเพื่อให้คนไทยรู้ว่าเจ้าหน้าที่ใส่ใจปัญหาของทุกคน และไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งระหว่างรอกลับบ้าน แม้ว่าจะต้องตอบคำถามซ้ำๆ จนตอนหลังคนไทยที่รอกลับบ้านในกลุ่มไลน์เริ่มช่วยเจ้าหน้าที่ตอบคำถามด้วย เนื่องจากอยู่ด้วยกันมานานจนรู้ว่าคำตอบคืออะไร

สำหรับการเรียกคิวกลับไทยจะมีประกาศเรียกไล่ระดับไป ตั้งแต่ประกาศชื่อทางหน้าเพจเฟซบุ๊กและไลน์กลุ่ม ไปจนถึงไล่โทรตาม และแอดไลน์ตามบุคคลที่ไม่มาแสดงตัวหรือติดต่อไม่ได้ทางโทรศัพท์ พูดง่ายๆ คือพยายามติดต่อทุกช่องทางเพื่อให้คนมายืนยันสิทธิ์ของตัวเอง ในส่วนการจัดลำดับคิวจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.โควตาบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเรียกตามลำดับเวลาลงทะเบียน โดยหากได้สิทธิ์กลับแล้วยังไม่พร้อมสามารถสละสิทธิ์เพื่อกลับรอบต่อไปได้ แต่ถ้าสละสิทธิ์โดยระบุว่าจะสละให้ใคร ก็จะต้องไปแทนที่คนคนนั้น ซึ่งที่ผ่านมาด้วยน้ำใจของคนไทยกันเอง ก็มีคนสละสิทธิ์ให้คนที่พ่อแม่ป่วยหนัก หรือมีความจำเป็นอื่นๆ กลับแทนบ้างทุกรอบ 2.โควตาคนป่วย ตั้งครรภ์ มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องกลับไทย โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากความจำเป็น และผลกระทบที่ตามมาหากไม่ได้กลับไทย และ 3. โควตาห้องกัก คือคนที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ไต้หวันจับได้และต้องการผลักดันออกนอกประเทศ โดยสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจะเป็นผู้คัดเลือกและส่งชื่อมาว่าจะส่งใครกลับในแต่ละรอบบ้าง

หลังจากคนที่ได้รับสิทธิ์กลับไทยและยืนยันสิทธิ์แล้ว เจ้าหน้าที่จะแบ่งกลุ่มให้เข้ากลุ่มไลน์ย่อยที่มีเจ้าหน้าที่หัวหน้ากลุ่มประจำกลุ่มย่อย คอยดูแล ตอบคำถาม ขอรับข้อมูลส่วนตัวเพื่อจัดทำเอกสารการเดินทางต่างๆ และแจ้งการจ่ายเงินค่าตั๋ว รวมทั้งให้รายละเอียดเพื่อไปขอใบรับรองแพทย์ ตอบคำถาม และแจ้งข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการเตรียมตัวเดินทางกลับอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คนไทยทุกคนมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรงในการประสานงานตั้งแต่ยืนยันสิทธิ์ไปจนถึงการแจกเอกสารที่สนามบินในวันจริง

ในวันส่งกลับจริง เจ้าหน้าที่หัวหน้ากลุ่มประจำกลุ่มย่อยจะเป็นผู้มารอรับและแจกเอกสารให้กับผู้เดินทางในกลุ่มของตน พาผู้ที่พำนักเกินเวลาอนุญาตไปเสียค่าปรับกับตม.ไต้หวัน และแจกถุง “อิ่มอุ่น” ซึ่งมีของว่างให้ทานรองท้อง และในเที่ยวบินที่ไม่มีอาหารบริการ สำนักงานการค้าฯ ก็จะจัดเตรียมอาหารกล่อง ไว้ให้ทานก่อนขึ้นเครื่องด้วย รวมทั้งเตรียมกระดาษเปียก หน้ากากอนามัยไว้ให้เพื่อความอุ่นใจ สมกับที่มาของชื่อถุง “อิ่มอุ่น” คือ อิ่มท้องและอุ่นใจ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะคอยประสานกับสายการบินและแก้ไขปัญหาหน้างานเพื่อให้คนไทยกลับได้โดยไม่มีปัญหา ตั้งแต่ขั้นตอนการเช็คอินแล้ว ไปจนถึงหน้าประตูขึ้นเครื่อง เพื่อรอส่งคนไทยจนขึ้นเครื่องครบทุกคน

นอกจากภารกิจส่งคนไทยกลับบ้านแล้ว สำนักงานการค้าฯ ยังมีภารกิจส่งเวชภัณฑ์การแพทย์ที่ได้รับบริจาคจากไต้หวัน อาทิ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุด PPE หน้ากาก N95 ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ได้ส่งหน้ากากอนามัยไปแล้ว 200,000 ชิ้น ชุด PPE 15,000 ชิ้นไปกับเที่ยวบินอพยพคนไทยกลับบ้านรวม 4 เที่ยวบิน โดยการจัดการเรื่องการขนส่งแต่ละเที่ยวจะขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละครั้ง เพราะส่งผลกระทบพื้นที่ใต้ท้องเครื่องบินในแต่ละรอบด้วย

ท่ามกลางสภาวะที่ไม่ปกตินี้เอง ภารกิจการดูแลคนไทยในครั้งนี้ ก็ทำให้เห็นน้ำใจของคนไทยในต่างประเทศในช่วงเวลาวิกฤตหลากหลายแง่มุม ทั้งบางคนที่เข้ากลุ่มมาเพื่อจะพูดคุยกับคนไทยในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ใกล้ เพื่อที่จะแบ่งปันผลไม้ให้คนที่ลำบากด้านความเป็นอยู่ คนไทยที่เห็นความเต็มที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่จนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม ให้การช่วยเหลือคนอื่น คนที่สละสิทธิ์ของตนให้ผู้ที่เดือดร้อนกว่า ถ้อยทีถ้อยอาศัยรวมตัวกันเดินทางไปสนามบินจากเมืองเดียวกัน ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างคนไทยที่รอกลับประเทศไทยด้วยกัน และกับเจ้าหน้าที่สำนักงานการค้าฯ ที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่าการได้ช่วยเหลือผู้อื่นแม้ว่าเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ช่วยสร้างให้เกิดความสุขขึ้นได้จริงๆ

สำนักงานการค้าฯ ยังยินดี ที่มีส่วนในการส่งผ่านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นความปรารถนาดีและน้ำใจจากไต้หวันมอบให้กับโรงพยาบาลในประเทศไทยอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image