อาเซียนซัมมิท36 ร่วมมือรอบด้าน ก้าวผ่าน’โควิด’

เวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิดหลักในการประชุมตลอดทั้งปีคือ “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” เป็นการประชุมอาเซียนครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการจัดการประชุมสุดยอดผ่านการประชุมทางไกลแบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่พิธีเปิดการประชุม การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 การประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีในยุคดิจิทัล การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน และการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่กินเวลาตั้งแต่เช้ายันเย็น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมทางไกลกับผู้นำอาเซียนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือร่วมกับผู้นำอาเซียนทุกประเทศ โดยมีนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ครอบคลุมความร่วมมือทุกด้านของอาเซียน แต่แน่นอนว่าประเด็นที่ได้รับความสำคัญและมีการพูดถึงในแทบทุกมิติการหารือของอาเซียนเองหนีไม่พ้นประเด็นเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การประสานความร่วมมือกันในอาเซียนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด รวมถึงการบรรเทาผลกระทบ และส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยผู้นำอาเซียนยังได้ประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเป็นทางการ หลังมีการระบุถึงประเด็นการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในการหารือสมัยพิเศษระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำจีน ญีปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีการตัดมาจากงบประมาณในโครงการความร่วมมือระหว่างกันที่มีอยู่แล้ว และยังมีการบริจาคเงินสมทบเพิ่มเข้าไปด้วย

ผู้นำอาเซียนมีข้อตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับโควิดในหลายประเด็น ประกอบด้วย การประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยได้บริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,100,000 บาทเพื่อสนับสนุนกองทุนดังกล่าว ที่ประชุมยังเห็นชอบต่อแนวทางและเงื่อนเวลาสำหรับการจัดทำแผนงานฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ทั้งยังได้เร่งรัดการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์และมาตรฐานวิธีปฏิบัติของอาเซียนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และยังมอบหมายให้ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ซึ่งเป็นที่ประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในทั้ง 3 เสาประชาคมอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพและมีบูรณาการ

Advertisement

ผู้นำอาเซียนยังรับทราบว่า ภายใต้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่กระจายของข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งสร้างให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ความไม่อดทนและไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงความหวาดกลัว ซึ่งจะบ่อนทำลายความพยายามในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ ความยืดหยุ่น และการตอบสนองต่อความพยายามของผู้คนในการเผชิญกับการแพร่ระบาด โดยผู้นำอาเซียนมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับข่าวปลอมอย่างต่อเนื่องผ่านความตกลงที่มีร่วมกัน ควบคู่กับการดำเนินการกับข่าวปลอมที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับโควิด-19 อีกด้วย

ผู้นำอาเซียนยังยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง รวมทั้งได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยย้ำความสำคัญของการให้การดูแลและคุ้มครองประชาชนในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ความร่วมมือเพื่อพัฒนายาและวัคซีน และการพิจารณาแนวทางร่วมกันในการผ่อนปรนมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง รวมถึงพิจารณาแนวคิดเรื่อง “Travel Bubble” ในอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

Advertisement

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ย้ำถึงบทบาทนำและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และลดการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการเป็นประธานอาเซียนของไทยเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งเน้นย้ำการสนับสนุนระบบพหุภาคี การค้าเสรีที่เปิดกว้าง การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ปภายในปีนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าความตกลงดังกล่าวยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าอาเซียนและชาติพันธมิตรยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคทีที่เปิดกว้างและยึดถือหลักกฎหมาย

ผู้นำอาเซียนยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของอาร์เซ็ปว่าจะไม่เพียงแต่เปลี่ยนภูมิภาคให้กลายเป็นอาเซียนระดับโลก แต่ยังจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดใหญ่ และยังช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น ผู้นำอาเซียนยังตระหนักว่า การแพร่ระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะส่งผลให้การทำงานเพื่อยกระดับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียนประสบกับความล่าช้า จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อทำให้แน่ใจว่ากลไกความร่วมมือเขตการค้าเสรีของอาเซียนจะยังคงเคลื่อนต่อไปได้อย่างราบรื่น และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ได้มีข้อเสนอเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนหลังโควิด 3 ประการ คือ ‘อาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น’ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ‘อาเซียนที่เข้มแข็งมากขึ้น’ และ ‘อาเซียนที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น’ โดยส่งเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของมนุษย์ ป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามจากไซเบอร์ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด และการทำประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความสงบสุขของภูมิภาค ตลอดจนไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวของอาเซียน

ในประเด็นสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ผู้นำอาเซียนได้เน้นย้ำถึงให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการจัดการกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ โดยอาเซียนจะสนับสนุนเมียนมาผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การอำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งกลับ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในรัฐยะไข่ ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนยังเน้นย้ำถึงความสำคัญและการให้การสนับสนุนความพยายามของเมียนมาในการรับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับชุมชนทุกแห่งในรัฐยะไข่ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับโดยสมัครใจให้กับผู้พลัดถิ่นอย่างปลอดภัยและมีเกียรติ ทั้งยังตั้งตารอและพร้อมให้การสนับสนุนรวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามความตกลงในการส่งกลับผู้พลัดถิ่นรัฐยะไข่ระหว่างรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลบังกลาเทศ

สำหรับประเด็นทะเลจีนใต้ ผู้นำอาเซียนยังคงให้ความสำคัญกับการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ทั้งยังรู้สึกยินดีต่อความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อให้มีการสรุปการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี) ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาซีโอซี ทั้งยังยินดีที่จะมีมาตรการที่เป็นไปได้จริงที่จะช่วยลดความตึงเครียดและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ความเข้าใจผิด และการวินิจฉัยที่ผิดพลาดในพื้นที่

ที่ประชุมได้รับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง: ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงานอีกด้วย

แม้โควิด-19 จะหยุดโลก แต่โลกไม่อาจจะหยุดอยู่ที่เดิมได้เช่นกัน ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ว่าจะในกรอบอาเซียน หรือภายใต้กรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่กว้างขวางกว่านี้ยังคงต้องดำเนินต่อไปภายใต้ข้อจำกัดที่มี เพราะมีเพียงความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น ที่จะทำให้เราก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากที่ส่งผลกระทบกับโลกทั้งใบไปได้พร้อมๆ กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image