ยูเอ็นเตือนเจอโรคระบาดซ้ำแน่ หากมนุษย์ยังเบียดเบียนสัตว์ป่า

ยูเอ็นเตือนเจอโรคระบาดซ้ำแน่ หากมนุษย์ยังเบียดเบียนสัตว์ป่า

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติออกมาเตือนว่าโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic diseases) ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ระหว่างคนและสัตว์ กำลังเพิ่มปริมาณขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้นต่อไป หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่จะปกป้องสัตว์ป่าหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างที่เด่นชัดในการเกิดขึ้นของโรคชนิดนี้คือการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่นำไปสู่โรคโควิด-19 ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งคาดว่าในอีก 2 ปีจะสร้างความเสียหายสูงถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็มีสาเหตุมาจากความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ การทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นระบุว่า การเพิกเฉยต่อโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 2,000,000 คนต่อปี โดยโรคอย่างอีโบลา ซาร์สที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ไปจนถึงเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ ล้วนมีต้นกำเนิดจากสัตว์ก่อนที่จะแพร่กระจายมาสู่มนุษย์

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP )และสถาบันเพื่อการพัฒนาวิจัยปศุสัตว์ (ILRI) ระบุตรงกันว่า การกระโดดข้ามของไวรัสจากสัตว์มาสู่มนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่มาจากการทำให้ธรรมชาติได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะผ่านการทำลายพื้นดิน การใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า การทำลายแหล่งทรัพยากร ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนวิถีของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์

Advertisement

อินเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและผู้อำนวยการยูเอ็นอีพีกล่าวว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเราได้พบเห็นโรคระบาดใหญ่ขึ้นอย่างน้อยหกครั้ง ขณะที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดโควิด-19 โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 3.1 ล้านล้านบาท

แอนเดอร์สันกล่าวว่า กลุ่มคนในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางมีความเสี่ยงสูง พวกเขามักจะอาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งมีปัญหาด้านการพัฒนาที่ซับซ้อน อยู่กันอย่างแออัดหนาแน่น ทั้งยังมีความใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงรวมถึงสัตว์ป่า

ขณะที่ความต้องการในการบริโภคของมนุษย์ก็เพิ่มสูงขึ้นตามมา ตัวอย่างเช่น การผลิตเนื้อสัตว์ป้อนตลาดเพิ่มขึ้นถึง 260% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เรามีการทำการเกษตรและใช้พื้นที่เพื่อทำเกษตรมากขึ้น ขยายโครงสร้างพื้นฐานและใช้ทรัพยากรต่างๆด้วยการเบียดบังพื้นที่จากธรรมชาติ

Advertisement

เขื่อน ระบบชลประทาน การสร้างฟาร์มขนาดใหญ่ มีส่วนเชื่อมโยงกับโรคติดต่อในมนุษย์ที่เกิดขึ้นถึง 25% ขณะที่การเดินทาง ระบบขนส่งมวลชน และห่วงโซ่ในการผลิตอาหารของมนุษย์ลบเส้นเขตแดนและความห่างไกลระหว่างกันลง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรค

ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาได้ช่วยวางยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ว่าจะป้องกันการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอนาคตได้อย่างไร อาทิ การสร้างแรงจูงใจ การบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และการลงทุนเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์

แอนเดอร์สันกล่าวว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนว่าพวกเรายังคงเบียดเบียนสัตว์ป่าและทำลายระบบนิเวศของเราเอง ซึ่งจะทำให้เราเห็นการเพิ่มขึ้นของโรคที่แพร่จากสัตว์มาสู่คนในช่วงเวลาอีกหลายปีข้างหน้า หนทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ในอนาคต คือเราจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image