รู้จัก WHO หน่วยงานสาธารณสุขระดับโลก ที่ตกเป็นประเด็นในยุคโควิด-19

โลโก้องค์การอนามัยโลก / AFP

รู้จัก WHO หน่วยงานสาธารณสุขระดับโลก ที่ตกเป็นประเด็นในยุคโควิด-19

องค์การอนามัยโลก (ฮู) เป็นหน่วยงานที่ถูกจับจ้องในช่วงเวลาแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ว่าเป็นหุ่นเชิดให้กับรัฐบาลจีน พร้อมกับประกาศจะนำสหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกในปี 2021 นี้
ขณะที่ล่าสุดฮู ประกาศว่าจะตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อตรวจสอบทบทวนการรับมือการแพร่ระบาดของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกคือองค์กรอะไร?

ฮูเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1948 หรือพ.ศ 2491 มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาสาธารณสุขทั่วโลก มีเจ้าหน้าที่ทำงานจำนวน 7,000 คน ใน 150 ประเทศ 6 สำนักงาน

ระดับภูมิภาค และที่สำนักงานใหญ่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ปัจจุบันนายทรีดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ชาวเอธิโอเปีย นั่งเป็นผู้อำนวยการฮู ดำรงตำแหน่งในระยะเวลา 5 ปี โดยวาระดำรงตำแหน่งของกีเยรเยซุส เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปีค.ศ.2017

Advertisement

องค์การอนามัยโลกทำอะไรบ้าง?

ฮู มีเป้าหมายที่ระบุเอาไว้ว่า “ส่งเสริมสุขภาพที่ดี ปกป้องโลกให้ปลอดภัยและช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบาง” อย่างไรก็ตามฮู ไม่ได้มีอำนาจในการวางนโยบายบ้านสาธารณสุขให้กับรัฐบาลชาติต่างๆ แต่จะดำเนินการในฐานะที่ปรึกษาและเสนอกรอบการปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการป้องกันโรคและการพัฒนาระบบสาธารณสุข

โดยงานหลักๆสำคัญของฮูมีด้วยกัน 3 เรื่อง
1.ตั้งเป้าให้ทุกประเทศประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุม
2.ป้องกันและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินรุนแรง
3.ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน

Advertisement

อะไรบ้างที่องค์การอนามัยโลกไม่ได้ทำ?

ฮู เป็นอีกองค์กรระดับนานาชาติที่มักถูกเข้าใจผิดในเรื่องของกรอบการทำงานและทรัพยากรที่มี เรื่องแรกก็คือ ฮู ไม่ใช่ “หมอของโลก” เพราะฮู ไม่ได้ให้บริการด้านการรักษาหรือเฝ้าระวังโรค อย่างไรก็ตาม ฮู จะให้คำแนะนำชาติต่างๆในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องต่างๆเหล่านั้น

ที่ต้องเข้าใจอีกเรื่องคือฮู ไม่ได้มีอำนาจในการคว่ำบาตร การเก็บข้อมูลและการตีพิมพ์ข้อมูลต่างๆของฮูเป็นข้อมูลที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญจากชาติสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของฮูเอง

ทุกประเทศเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกหรือไม่?

สมาชิกองค์การสหประชาชาตทั้งหมด 194 ประเทศ ทุกประเทศยกเว้นลิกเตนสไตน์ เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุม The World Health Assembly การประชุมที่จัดขึ้นทุกๆปีเพื่อวางกรอบนโยบายของฮู โดยนโยบายเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติโดยบอร์ดบริหารของฮู ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว

งบประมาณองค์การอนามัยโลกมาจากไหน?

ประเทศสมาชิกฮู จะเป็นผู้ให้งบประมาณผ่าน 2 ทางด้วยกันคือ “เงินบริจาคที่กำหนดเอาไว้แล้ว” และ “เงินบริจาคแบบสมัครใจ” โดยงบของฮูจะถูกกำหนดเอาไว้ในกรอบระยะเวลา 2 ปี โดยงบในปีงบประมาณ 2020-2021 มีจำนวน 4,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีงบประมาณก่อนหน้าถึง 9 เปอร์เซ็นต์

งบในส่วนที่ถูกกำหนดเอาไว้ จะถูกประเมินจากฐานะทางการเงินและจำนวนประชากรในประเทศ ขณะที่งบส่วนสมัครใจ จะถูกเฉพาะเจาะจงจากผู้บริจาคไปยังภูมิภาคต่างๆ หรืออาจจะบริจาคเฉพาะเพื่อใช้ในโรคต่างๆเช่น โปลิโอ มาลาเรีย หรือ การเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดในพื้นที่ยากจนเป็นต้น

ผู้บริจาคอาจเป็นมูลนิธิ หรือกลุ่มประเทศ อย่างคณะกรรมาธิการยุโรป เองก็เป็นผู้บริจาครายใหญ่ของฮูด้วย ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดที่มีส่วนให้งบประมาณกับฮู จำนวนมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงงบประมาณ 2018-2019 ขณะที่มูลนิธิเกตส์ ของบิล เกตส์ เป็นผู้บริจาคอันดับสอง ตามมาด้วยอังกฤษในอันดับที่ 3

ตัวชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของฮู?

ฮู ได้รับเสียงชื่นชมในฐานะผู้นำในการทำงานระยะเวลายาวนาน 10 ปี จนทำให้โรคไข้ทรพิษหายไปในช่วงทศวรรษที่ 70 และเป็นผู้นำของโลกในการทำให้โรคโปลิโอ กำลังจะหมดไปจากโลกนี้เช่นกัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮู ยังมีบทบาทสำคัในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศคองโก รวมไปถึง โรคซิก้า ในประเทศบราซิล

ขณะที่ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเวลานี้ แม้หลายฝ่ายจะชื่นชมการทำงานของฮู แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กล่าวโจมตีฮูว่า ลำเอียงไปทางรัฐบาลจีนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแพร่ระบาดได้ไม่ดี
นั่นส่งผลให้ทรัมป์ ประกาศระงับการให้งบประมาณกับ ฮู ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ทรัมป์ เองถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นำหลายๆชาติ

ล่าสุดยูเอ็นเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าได้รับจดหมายแสดงความจำนงในการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการแล้วในปี 2021 นี้

ในอดีต องค์การอนามัยโลกเอง ก็เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ตื่นตูมเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดเอช1เอ็น1 เมื่อปี 2009-2010 มากเกินไป และเคยเผชิญกับเสียงวิจารณ์ว่าดำเนินการไม่ทันท่วงทีในการจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เมื่อปี 2014 การแพร่ระบาดซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11,000 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image