70 ปีฟุลไบรท์ประเทศไทย ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ ประชาชน’ไทย-สหรัฐ’

นายเจมส์ วิลเลียม ฟุลไบรท์ ผู้ริเริ่มโครงการเยือนไทยเมื่อปี 2501

หมายเหตุ “มติชน” นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์) มาพูดคุยกันถึงโอกาสครบ 70 ปี ของทุนฟุลไบรท์ ประเทศไทย และความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนไทย-สหรัฐในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่ทักทอสายใยความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ให้เป็นความสัมพันธ์อันพิเศษตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา
///

วิชาวัฒน์ อิศรภักดี

๐ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเมื่อพูดถึงสหรัฐ คนไทยจำนวนมากมักมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยเป็นบวกเท่าไหร่นัก

ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยรู้สึกว่าปัจจุบันคนไทยมองสหรัฐว่าไม่เข้าใจไทย มีปัญหากับเราไม่ว่าจะเรื่องรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แต่อยากให้มองภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐว่าที่จริงแล้วเราเป็นมิตร เป็นหุ้นส่วน และอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานานมาก ไทย-สหรัฐได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 ซึ่งนับจนถึงขณะนี้ก็ยืนยาวมาถึง 187 ปีที่ได้มีการลงนามสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นการลงนามสนธสัญญาของสหรัฐกับประเทศแรกในเอเชีย ทำให้พูดได้ว่าไทยเป็นมิตรประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย

แต่ในความเป็นจริงประชาชนของทั้งสองประเทศได้มีการติดต่อไปมาหาสู่กันด้วยแล้วก่อนหน้านั้นหลายปี โดยเริ่มจากจดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ของสหรัฐ ในปี 2361 กล่าวได้ว่าไทยกับสหรัฐ มีการติดต่อการครั้งแรกตั้งแต่กว่า 200 ปีมาแล้ว ในปี 2364 เรือกำปั่นลำแรกของสหรัฐเข้ามาถึงไทย และมีการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารีอเมริกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวแฝดสยามอิน-จัน ซึ่งไม่เพียงจะเป็นที่รู้จักทั่วโลก แต่ยังถือเป็นชาวเอเชียที่ไปตั้งรกรากในสหรัฐกลุ่มแรกๆ ที่สามารถพูดได้ว่าบรรลุ “ความฝันของอเมริกันชน” นับจนถึงทุกวันนี้ทายาทของแฝดสยามก็มีการจัดงานรำลึกถึงบรรพบุรุษขึ้นโดยเชิญทายาทของแฝดสยามที่กระจายไปอยู่ในหลายรัฐของสหรัฐมาร่วมงาน ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐผมก็เคยได้รับเชิญไปร่วมงานดังกล่าวด้วย ทายาทแฝดสยามก็ยังมีความผูกพันกับไทย และเมื่อปี 2561 ก็ยังได้เดินทางมาเยือนบ้านเกิดของบรรพบุรุษ

Advertisement

มิตรไมตรีและความใกล้ชิดระหว่างชาวไทยกับชาวอเมริกันเป็นทั้งพื้นฐานและฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-สหรัฐกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา และได้สร้างประโยชน์หลากหลายให้แก่ทั้งสังคมไทยและสังคมอเมริกัน โดยความร่วมมือจากจุดเริ่มต้นของการค้า และการเผยแผ่ศาสนาโดยมิชชันนารี ได้พัฒนาสู่ความร่วมมือที่รอบด้านและเป็นประโยชน์ร่วมกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สาธารณสุข สังคม การศึกษา การพัฒนาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ผ่านบททดสอบของการเวลาและสถานการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงต่างๆ โดยประชาชนทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนร่วมเสริมสร้างมิตรภาพและความร่วมมืออันยาวนานระหว่างกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

ในด้านการค้าการลงทุน สหรัฐถือเป็นคู่ค้าลำดับ 3 ของไทยรองจากจีนและญี่ปุ่น สหรัฐยังมีการลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยมีบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยในปัจจุบันมากถึง 600-700 บริษัท บางบริษัทอยู่ในไทยมานานกว่า 100 ปี รวมมูลค่ากว่า 1.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ด้านความมั่นคง ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศในเอเชียที่มีการลงนามแบบทวิภาคีเป็น Treaty Alliances กับสหรัฐ (5 ประเทศประกอบด้วยไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย) โดยความร่วมมือด้านความมั่นคงก็เป็นหนึ่งในเสาหลักของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ไทยและสหรัฐมีการฝึกร่วม Cobra Gold ที่จัดมาต่อเนื่องกว่า 38 ปี เริ่มต้นจากการฝึกร่วมทวิภาคีไทย-สหรัฐ และขยายจำนวนประเทศที่มาเข้าร่วมฝึกและสังเกตการณ์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน จนกลายเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียในปัจจุบัน

Advertisement

สหรัฐยังมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งในไทย ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบนั่นคือการสร้างถนนมิตรภาพจากสระบุรี-หนองคาย ซึ่งเริ่มเปิดใช้เมื่อปี 2500 นำความก้าวหน้าไปสู่จังหวัดต่างๆ ที่ถนนตัดผ่าน ขณะที่ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันก็ถือว่ามีความโดดเด่น เริ่มจากหมอบรัดเลย์ นายแพทย์ชาวอเมริกัน ที่ได้เริ่มการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในไทยเป็นครั้งแรก รวมทั้งได้เขียนหนังสือและสอนการแพทย์แผนปัจจุบันให้หมอชาวสยามในขณะนั้น นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมราชชนกใน ร.9 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านการแพทย์ที่สหรัฐ และเมื่อปี 2464 ได้ทรงเจรจาความร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จนนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรแพทย์ของไทยให้ถึงระดับแพทยศาสตรบัณฑิต นับว่าเป็นการวางรากฐานการแพทย์ไทยให้เจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยประเทศจนถึงปัจจุบัน

การประชุมคระกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย-สหรัฐ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ฟุลไบรท์ ประเทศไทย

๐ปีนี้ทุนฟุลไบรท์ในไทยครบ 70 ปี ทุนฟุลไบรท์มีความสำคัญอย่างไร

มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน หรือที่เรียกกันติดปากว่าทุนฟุลไบรท์ จัดตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2493 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า มูลนิธิการศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ต้นกำเนิดของทุนฟุลไบรท์มีขึ้นจากแนวคิดของนายเจมส์ วิลเลียม ฟุลไบรท์ ซึ่งเป็นอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐจากรัฐอาร์คันซอ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านต้องการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการศึกษา เพราะเห็นว่าจะทำให้ผู้คนมีความเข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ปัจจุบันทุนฟุลไบรท์ครอบคลุมถึง 160 ประเทศทั่วโลก

ทุนฟุลไบรท์เริ่มต้นในไทยเมื่อปี 2493 ซึ่งน่าจะเป็นความร่วมมือแรกๆ ระหว่างไทย-สหรัฐ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรกเป็นทุนที่สหรัฐให้การสนับสนุน แต่ต่อมาจุดเด่นของทุนนี้คือได้กลายเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ โดยเป็นทุนที่รัฐบาลไทยและสหรัฐให้การสนับสนุน นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยให้เงินสนับสนุนปีละ 15 ล้านบาท หรือราว 35% ขณะที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนงบประมาณปีละ 875,000 หรือราว 27.7 ล้านบาท หรือราว 65%

นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 7 ทศวรรษ ทุนฟุลไบรท์ได้สนับสนุนทุนการศึกษากับนักศึกษาทั้งไทยและสหรัฐกว่า 3,300 คน แบ่งเป็นนักศึกษาไทย 2,000 คน และนักศึกษาสหรัฐ 1,300 คน โดยผู้ที่ได้รับทุนฟุลไบรท์ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน แวดวงวิชาการ การเมือง การทูต หรือสื่อมวลชน เพราะเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดว่าผู้ที่ได้รับทุนเรียนจบกลับมาแล้วจะต้องมาใช้ทุนหรือต้องมาทำอะไรที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

คนมักจะถามว่าทุนฟุลไบรท์มีประโยชน์อะไรต่อคนไทย ผมคิดว่าประโยชน์มีในหลายมิติ ตั้งแต่เป็นโอกาสให้คนไทยไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม เราพยายามส่งเสริมให้คนในต่างจังหวัดรู้จักทุนนี้มากขึ้นและให้เด็กจากต่างจังหวัดเข้ามาสอบมากขึ้น เราเปิดโอกาสให้เด็กไทยจากทุกภูมิภาคและทุกฐานะมีโอกาสในการเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสหรัฐ ในสาขาที่เขาสนใจ เพราะสหรัฐมีมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมของโลกอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีทุนวิจัยซึ่งทำให้นักวิชาการได้แลกเปลี่ยนกัน และไปฝึกสอนในต่างประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นโอกาสให้คนอเมริกันได้สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนในไทยด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน ไทยได้ประโยชน์จากการที่มีครูมาสอน ครูเขาก็ได้ประสบการณ์จาการมาอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง มาเห็น มาเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับวัถตุประสงค์ในการก่อตั้งทุนฟุลไบรท์

ในส่วนของนักเรียนไทยก็มีโอกาสได้ความรู้ ได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ของเขาเอง เห็นวัฒนธรรม นวัตกรรม และวิวัฒนาการของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นกำไรชีวิต การไปใช้ชีวิตในสหรัฐจะเป็นประโยชน์กับตัวของเขาเองและต่อประเทศ เพราะพวกเขาก็จะนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศไทยต่อไป

ศิษย์เก่าที่เคยได้รับทุนฟุลไบรท์ยังเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงที่หลายคนอาจไม่ทราบ อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.วีรพงศ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศ.เกษม สุวรรณกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๐ทราบว่าท่านผู้ช่วยก็เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าที่ได้รับทุนฟุลไบรท์เช่นกัน

ผมภูมิใจมากที่เป็นศิษย์เก่าของฟุลไบรท์คนหนึ่ง และขณะนี้ก็ได้มาเป็นประธานคณะกรรมการบริหารทุนฟุลไบรท์ จึงมีความรู้สึกผูกพัน นักเรียนเก่าที่ได้รับทุนฟุลไบรท์ส่วนใหญ่ก็ต้องการที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ของทุน อย่างผมเองก็มุ่งมั่นและอยากมารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทำงานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนึกถึงบุญคุณของทุนฟุลไบรท์เสมอที่ทำให้เราก้าวหน้ามาได้ถึงวันนี้

ฟุลไบรท์ให้ทุนแบบเปิดกว้าง ไม่มีข้อผูกมัด ผมเห็นว่าทุนฟุลไบรท์ช่วยสร้างประโยชน์ ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ และยังเป็นโอกาสที่ทำให้คนของทั้ง 2 ประเทศมีความเข้าใจและใกล้ชิดกันมากขึ้น

ผู้รับทุนฟุลไบรท์ชาวอเมริกันฝึกรำไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image