วิจัยชี้โครงการอนุรักษ์แพนด้า แม้ทำสำเร็จแต่ทำสัตว์นักล่าลดจำนวน
ผลวิจัยตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์อีโคโลจีแอนด์อีโวลูชั่น เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า โครงการอนุรักษ์แพนด้าที่ประสบความสำเร็จของประเทศจีน ทำให้แพนด้าหลุดพ้นจากรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตั้งแต่ปี 2016 ได้นั้นอาจไม่ได้ช่วยอนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่นๆ ในถิ่นอาศัยเดียวกันอย่างที่ตั้งใจ เมื่อผลวิจัยพบว่าเสือดาว เสือดาวหิมะ สุนัขป่า รวมถึงหมาไน มีจำนวนลดลงจนเกือบจะหมดไปจากถิ่นอาศัยที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์แพนด้านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา
โดยผลวิจัยนำเอาผลการสำรวจจำนวนสัตว์ในช่วงทศวรรษที่ 50 และทศวรรษที่ 70 นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจด้วยกล้องดักสัตว์ในช่วงปี 2008-2018 มาเปรียบเทียบกันและพบว่า เสือดาวหายไปจากพื้นที่อนุรักษ์แพนด้าสัดส่วน 81 เปอร์เซ็นต์ เสือดาวหิมะหายไปจาก 38 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ สุนัขป่า 77 เปอร์เซ็นต์ และหมาไน 95 เปอร์เซ็นต์
โดยงานวิจัยระบุว่า บรรดาสัตว์นักล่าดังกล่าวมีภัยคุกคามจากนักล่าสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่าและโรคระบาด ทีมวิจัยระบุว่า ความท้าทายสำคัญก็คือพื้นที่อนุรักษ์แพนด้าที่เล็กเกินกว่าพื้นที่หากินของสัตว์นักล่าทั้ง 4 ชนิด และว่า การอนุรักษ์ควรให้ความสำคัญมากกว่าสัตว์เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง