6 ปี “ดอน ปรมัตถ์วินัย” บนเก้าอี้เสนาบดีบัวแก้ว

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา หากนับตั้งแต่นายดอนขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 มาจนถึงปัจจุบัน อีกเพียง 2 วันหลังจากนี้จะครบ 5 ปีของการดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงบัวแก้ว แต่หากจะนับรวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2557 ก็ถือว่านายดอนได้นั่งเก้าอี้ผู้บริการกระทรวงการต่างประเทศมานานเกือบ 6 ปี

เป็น 6 ปีที่ผ่านทั้งช่วงเวลาแห่งการเป็นปากเป็นเสียงของรัฐบาลทหารที่ตั้งขึ้นหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2567 และเป็นเพียงรัฐมนตรีไม่กี่คนที่ดำรงตำแหน่งยาวจนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปีพ.ศ.2562 จนกระทั่งการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นายดอนไม่เพียงแต่ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งเจ้ากระทรวงบัวแก้ว แต่ยังได้ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่ามกลางความตกตะลึงของคนบางส่วน

ต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวคราวเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ชื่อของนายดอนมักจะเป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกปล่อยออกมาว่าจะถูกปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างถึงปัญหาสุขภาพ หรือจะด้วยเพราะผู้ที่อยากให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ความที่นายดอนไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ การปล่อยข่าวกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีโดยอาศัยชื่อนายดอนเป็นตัวนำ มักจะเป็นทางเลือกแรกๆ ของผู้ที่กระหายอยากจะได้เก้าอี้อื่นๆ ที่เลือกจะหยิบเอาเก้าอี้เจ้ากระทรวงบัวแก้วมาเป็นข้ออ้างว่าจะต้องมีการเขย่าเก้าอี้กันเสียใหม่ เพราะไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรกับผู้ปล่อยข่าวนัก

ตลอดเวลาหลายปีบนเก้าอี้เจ้ากระทรวงบัวแก้ว งานด้านการต่างประเทศภายใต้การนำของนายดอนมีหลายสิ่งที่ถือว่าเป็นความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายคนยอมรับว่าภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในสถานะที่ดียิ่ง ด้านหนึ่งอาจเพราะกองทัพไทยก็มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหารในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อไทยมีรัฐบาลทหารจากคสช. จนมาถึงรัฐบาลที่แม้จะมาจากการเลือกตั้งแต่ยังคงมีผู้นำเป็นทหารอย่างพล.อ.ประยุทธ์ การรักษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้สงบเรียบร้อย จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง บรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีเช่นนี้ย่อมเป็นประโยนช์ต่อการค้าขาย การลงทุน และการไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างปฏิเสธไม่ได้

Advertisement

ขณะที่ในด้านความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ นับตั้งแต่รัฐบาลคสช.มาจนถึงปัจจุบัน จากที่ชาติตะวันตกเคยแสดงท่าทีไม่ยอมรับรัฐบาลทหารของไทย ก็ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีพ.ศ. 2562 นั่นย่อมสะท้อนถึงความสำเร็จของการต่างประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง

เช่นเดียวกับปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์และการดำเนินการในด้านต่างๆ ของไทย ไม่ว่าการที่สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลืองของไทยในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ทั้งยังยกย่องไทยว่าเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับภูมิภาค การยกเลิกธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือกระทั่งการที่ไทยได้รับการปรับอันดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐจากเทียร์ 3 ขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 และตั้งเป้าจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมในอนาคต

Advertisement

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้แต่ละเรื่องไม่ใช่งานง่าย ต้องยกความดีความชอบให้กับการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ แต่หากปราศจากการสื่อสารและทำความเข้าใจกับประเทศรวมถึงองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ผ่านการทำหน้าที่คนกลางของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่จบลงในเวลาเพียงไม่กี่ปี และยังจะต้องมีการผลักดันสานต่อให้เกิดความยั่งยืนในประเด็นต่างๆ ที่เราได้แก้ไขไปแล้วต่อไป เพราะที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่หน้าตาของใคร แต่เป็นความสำเร็จและชื่อเสียงของประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่าเราได้พัฒนาและยกระดับตัวเองให้ไปถึงมาตรฐานอันเป็นสากลได้นั่นเอง

ความเป็นนักการทูตอาชีพของนายดอน ทำให้เขารู้จังหวะเวลาและใช้สายสัมพันธ์ที่มีในการแก้ไขปัญหาหลายอย่างให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีเช่นกัน อย่างกรณีการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงเพื่อการเดินเรือ ซึ่งเป็นโครงการที่จีนผลักดันมานานหลายปี แต่สร้างความห่วงกังวลให้กับประชาชนตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งในไทย ลาว และเมียนมา ด้วยสายสัมพันธ์อันดีและความใกล้ชิดของนายดอนกับ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน จากการพูดคุยทำความเข้าใจให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ กอปรกับการยกเหตุผลด้านเส้นทางคมนาคมมากมายที่เป็นทางเลือกซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่สุดจีนก็มีความเข้าใจและเห็นพ้องที่จะยกเลิกโครงการที่หลายฝ่ายห่วงกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขงไปในที่สุด

หรือกรณีของ นายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ที่ถูกจับขณะบินมายังไทยเพราะตำรวจสากลของออสเตรเลียเองเป็นคนแจ้งว่านายฮาคีมมีมีหมายจับของตำรวจสากล แต่พอเป็นเรื่องเป็นราวระหว่างประเทศขึ้นมา ออสเตรเลียดันโบ้ยความรับผิดชอบมาให้ จนไทยถูกเปลี่ยนสถานะมาเป็นเป้าโดนโจมตีไปแบบไม่ทันตั้งตัว แม้ไทยจะยืนยันว่าทางออกของเรื่องนี้คือออสเตรเลียต้องคุยกับบาห์เรน แต่ฝ่ายออสเตรเลียก็นิ่งเฉย หลังเรื่องยืดเยื้้อมากว่า 2 เดือน สุดท้ายนายดอนก็บินไปบาห์เรนแบบเงียบๆ เพื่อเข้าเฝ้า เจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารบาห์เรน กระทั่งทางการบาห์เรนระบุว่าไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีหรือขอให้ไทยส่งตัวนายฮาคีมในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังบาห์เรนอีก นายฮาคีมจึงเดินทางกลับออสเตรเลียไปในที่สุด ถือเป็นการปลดชนวนเผือกร้อนในเวทีระหว่างประเทศให้ไทยไปได้อีกกรณีหนึ่ง

หนึ่งในประเด็นที่เป็นความสนใจของนายดอนอย่างลึกซึ้งคือการผลักดันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันว่า SEP for SDGs โดยในระหว่างที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มจี77 ซึ่งสมาชิกคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศในปี 2558 ก็ได้มีการผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม แม้หลังจากไทยพ้นจากตำแหน่งประธานกลุ่มจี77 ไปแล้ว ก็ยังคงผลักดันเรื่อง SEP for SDGs อย่างต่อเนื่องทั้งในกรอบทวิภาคี ไตรภาคี จนถึงพหุภาคี และในกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ทำให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จัก ชื่นชม และมีการนำไปปรับใช้ในหลายประเทศ

ไทยยังได้รับหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-สหประชาชาติในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2559 โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก(เอสแคป) และสหภาพยุโรปอย่างแข็งขัน ซึ่งทำให้ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (ECOSOC) วาระปี 2563-2565 ด้วยคะแนนสูงสุดของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในด้านการต่างประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะแม้จะมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน แต่สุดท้ายไทยก็สามารถจัดการประชุมอาเซียนที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีกว่า 300 การประชุมได้อย่างเรียบร้อยโดยไม่มีเหตุแทรกซ้อนใดๆ แม้ว่าในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกจะเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นใกล้กับพื้นที่ประชุมก็ตาม และไทยยังสามารถใช้การเป็นประธานอาเซียนเพื่อต่อยอดนโยบายของไทยในด้านความร่วมมือและความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

ไทยยังได้ผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของภูมิภาคผ่านการเสนอแนวคิดเรื่อง “3M” ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน (mutual trust) ผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) และความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) รวมทั้งเน้นหลักของการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่งคงไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพของภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงที่มีความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกยังเป็นกลไกสำคัญในการดูแลและช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนกว่า 1.6 ล้านคนช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้อย่างเต็มที่ แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งการเยี่ยมเยียน แจกถุงยังชีพ พูดคุยผ่านระบบทางไกล ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจผ่านทางไลน์ รวมทั้งการนำคนไทยที่ประสงค์จะกลับประเทศกลับบ้านภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่มีอยู่

ภายใต้การทุ่มเทอย่างเต็มที่ของบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีเพียง 584 คนในต่างแดน และ 954 คนในไทย นับจนถึงขณะนี้ได้มีการนำคนไทยกว่า 69,741 คนจาก 97 ประเทศกลับไทย และจะยังคงทำหน้าที่ดูแลคนไทยในต่างประเทศอย่างดีที่สุดต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image