นาซา พบดาวเคราะห์น้อย โคจรเฉียดโลกมากสุดเท่าที่เคยจับภาพได้

นาซา พบดาวเคราะห์น้อย โคจรเฉียดโลกมากสุดเท่าที่เคยจับภาพได้

ห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (เจพีแอล) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศ (นาซา) ของสหรัฐ ระบุเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เกิดเหตุดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ากับรถเอสยูวี โคจรผ่านโลกที่ระยะ 2,950 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก นับเป็นดาวเคราะห์น้อยโคจรผ่านโลกในระยะใกล้ที่สุดที่เคยมีการสังเกตพบ

เจพีแอล ระบุในแถลงการณ์ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีชื่อว่า 2020คิวจี โคจรผ่านโลกเหนือมหาสมุทรอินเดีย เมื่อเวลา 11.08น.ตามเวลาประเทศไทยของวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยความเร็ว 12.3 กิโลเมตรต่อวินาที ที่ความสูงที่เตี้ยกว่าวงโคจรค้างฟ้าของดาวเทียมสื่อสารทั่วไปที่ 35,200 กิโลเมตรต่อวินาทีอยู่มากเลยทีเดียว

ภาพดาวเคราะห์น้อย2020คิวจี จับภาพไว้ได้โดย Zwicky Transient Facility เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นดาวเคราะห์น้อยที่โคจรเข้าใกล้โลกมาที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ (เอเอฟพี)

เจพีแอล ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ราว 3-6 เมตร ตรวจพบโดยกล้องโทรทัศน์ “สวิกกีทรานไซนต์ฟาซิลิตี้” ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย โดยพบมีแสงเป็นหางยาวบนท้องฟ้า โดยเจพีแอลระบุด้วยว่า หากดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเคลื่อนที่เข้าสู่แรงดึงดูโลกจะไม่สร้างความเสียหายใดๆเนื่องจากจะสลายหายไปในชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้เจพีแอล ระบุว่า การโคจรเข้าใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อยประเภทดังกล่าวเกิดขึ้นปีละไม่กี่ครั้งและยากที่จะบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ได้เหมือนครั้งนี้ เว้นแต่ว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2013 เหตุการณ์ซึ่งดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 30 เมตรระเบิดในชั้นบรรยากาศ ส่งคลื่นกระแทกสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนเป็นวงกว้างหลายกิโลเมตร และมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับพันคน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image