กลั่นประสบการณ์ ทูตไทยในรัสเซีย มองโลกในวิกฤตโควิด(1)

หมายเหตุ “มติชน”ท่านทูตธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซีย ได้ให้มุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปในโลกที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น และไทยควรทำอย่างไรท่ามกลางความท้าทายสำคัญครั้งนี้
///

๐จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของท่านทูต มองเห็นความเป็นไปของเวทีโลกในช่วงโควิดนี้อย่างไร

การระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นจุดที่เราได้เห็นการสวนกระแสโลกาภิวัตน์ (de-globalization) อย่างชัดเจนที่สุด โดยประเทศสำคัญๆ เน้นการดำเนินนโยบายเอาตัวรอดเฉพาะตนมากขึ้น ลดการให้ความสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาประเด็นข้ามชาติ เปลี่ยนจากที่เคย Think Global เริ่มกลายมาเป็น Think Local ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพ สันติภาพ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของโลก และหลังจากจีนประกาศกฎหมายด้านความมั่นคงในฮ่องกงและปฏิกิริยาของสหรัฐในการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศ เราเห็นปรากฏการณ์การแยกเป็นโลกสองค่าย สงครามเย็น 2.0 ที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่องค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกกลับอ่อนแอและขาดภาวะผู้นำ ส่วนในเอเชียอาคเนย์นั้น นอกจากความพยายามในการรวมกลุ่มภูมิภาค เช่น CTPPP, RCEP, Indo-Pacific แล้ว ยังมีความพยายามจะโยงปัญหาแม่น้ำโขงไปเทียบเคียงและสร้างอารมณ์ร่วมในลักษณะเดียวกับปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้อีกด้วย ยุทธภูมิในแถบนี้จึงมีความชัดเจนและเข้าใกล้ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ที่จริงแล้ว โลกเราได้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านมาพักใหญ่แล้ว แต่สงครามของมนุษยชาติกับโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล (Digital Disruption) สร้างความปั่นป่วนด้วยการสั่นคลอนระบบการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ และการเงินของโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว สังเกตได้จากไม่มีทฤษฎีทางเศรษฐกิจการเงินการคลังใดใช้อธิบายหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล โควิด-19 ทำให้เสถียรภาพในด้านต่างๆ สั่นคลอน และเปลี่ยนวิถีปกติในการดำเนินเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข สู่ภาวะ New Normal และ Next Normal ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดในทุกๆ ด้านของการดำรงชีวิตของบุคคลและระบบเศรษฐกิจและสังคม

Advertisement

เมื่อการใช้วัคซีนต้านโควิดได้ผลดี ระบบการใช้ชีวิตและระบบระหว่างประเทศในหลายมุมจะดำเนินตามครรลองทั้งใหม่และเก่าที่มี Human Normal และ Digital Disruption เป็นตัวกำหนด หากวิกฤตโรคไม่ยุติโดยเร็ว มันมีโอกาสจะเคลื่อนเข้าสู่ระบบการเงินของทุกภาคส่วน ลามถึงระบบการคลังและเงินตราของทุกประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกจะถดถอยเป็นเวลานาน เราจึงเห็นสภาวะ “ตลาดหุ้นหมี-จิงโจ้ เศรษฐกิจโลมา” ในทุกที่ และโดยที่ระบบเงินตราเป็นเส้นเลือดที่เป็นระบบหล่อเลี้ยงชีวิต ในระยะกลาง-ยาว สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้โลกต้องเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนระบบโครงสร้าง (reset) และกระบวนทัศน์ (paradigm) ในระบบการเงิน การคลัง และเงินตราครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษของประวัติศาสตร์โลก

หากเป็นเช่นนี้ สถานการณ์จะสั่นสะเทือนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ องค์การระหว่างประเทศที่ดูแลระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิถีการดำเนินเศรษฐกิจ ลามเข้าสู่ความไร้เสถียรภาพทางสังคมและการเมืองภายในของแต่ละประเทศได้ ที่น่ากังวล คือ มหาอำนาจจะรับมือกับการเสื่อมถอยของความเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลกที่เกิดจากสภาวะความอ่อนแอและไร้เสถียรภาพได้เพียงใด ท้ายที่สุดก็อาจจะเลือกสร้างบริบทที่จะนำไปสู่สงครามในวงจำกัดเพื่อการเริ่มต้นเปลี่ยนระบบโลกใหม่ที่ตนจะเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งอีกครั้งหรือไม่

ในสภาวะวิกฤตจากสงครามโรคขณะนี้ การเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจการเมืองได้ทวีความเข้มข้นและสลับซับซ้อนขึ้นอีก อันเป็นผลจากการเชื่อมโยงในทุกมิติอย่างซับซ้อนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมา อำนาจอธิปไตยตามความหมายดั้งเดิมได้ถูกท้าทายจนไม่มีรัฐชาติใดที่สามารถควบคุมอำนาจไว้ได้ดังหวัง ประวัติศาสตร์โลกทำให้เราทราบได้ว่า ความสำเร็จ อำนาจ และอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศ ประกอบขึ้นจากความสามารถในการเข้าถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริการ และการขนส่ง และการเข้าถึงเครือข่ายระบบที่เชื่อมโยงทางกายภาพและการสื่อสาร และหากสามารถกำหนดสถาปัตยกรรมใหม่ของระบบการเงินของโลกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบางได้ด้วยเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค ผู้นั้นจะเป็น “ผู้กุมบังเหียนโลก” อย่างแท้จริง แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุด

๐สิ่งสำคัญและโลกของเราหลังโควิดน่าจะเป็นอย่างไร

ในมุมของการดำรงชีวิตแบบปุถุชน เราได้เห็นถึงสัจธรรมและความสำคัญอย่างน้อย 5 เรื่อง ตามลำดับการกำเนิดของแนวพระราชดำริและแนวคิด ดังนี้ 1.เงินทองคือของมายา ข้าวปลาคือของจริง อมตะวาจาของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร 2.หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และพระราชดำริและพระราชกรณียกิจตลอดพระชนมชีพเกี่ยวกับน้ำ เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งที่จริงแล้วเราย่อมได้รับประโยชน์ด้วยในทางใดทางหนึ่ง 3.ขาดทุนของฉัน คือ กำไรของแผ่นดิน พระราชดำรัสอันทรงคุณค่ายิ่งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงก่อตั้งและสนับสนุนงานศิลปาชีพ และพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 4.การจัดตั้งและการส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสา “เราทำดีด้วยหัวใจ” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็คือการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่ง 4 เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่พวกเราชาวไทยในทุกภาคส่วนควรนำมาใช้เป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตและนำมาพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศไทยอย่างเข้มแข็ง เรื่องที่ 5.คือ โลกภายใต้ Digital Disruption สิ่งที่แน่นอน คือ การต้องปรับตัวตลอดเวลาเพื่อแก้ไขจุดเจ็บตัวในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ

ภาพลักษณ์ในทางบวกของความร่วมมือร่วมใจในสังคมไทย รวมทั้งความสำเร็จในการจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยได้รับความชื่นชมอย่างดียิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาร่วมกำหนดกฎกติกาหรือเดินร่วมกันกับภาคธุรกิจและประชาชนในการบริหารจัดการประเทศใหม่ นโยบาย วิธีการทำธุรกิจ และวิถีในการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับตนเอง สังคม หรือประเทศให้อยู่รอดได้ดี ในแง่การบริหารราชการภาครัฐ แนวนโยบายหรือกรอบความคิดเดิมๆ ควรนำมาพิจารณาว่า จะสามารถตอบสนองความอยู่รอดหรือประโยชน์สูงสุดของประเทศได้หรือไม่ และในเมื่อหัวใจสำคัญของการพัฒนาคือ ทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ เราจะมีคนหรือพลเมืองที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption ที่ทันใช้การได้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 และ 5 หรือไม่ และเราจะดำเนินการเพื่อให้มี “คน” ซึ่งเราผลิตไม่ได้ไม่ทันไปสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้แก่ประเทศได้อย่างไร ภาครัฐ เอกชนและประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันก้าวข้ามปัญหาเดิมๆ และปัญหาใหม่ที่เกิดจาก Digital Disruption ซึ่งกระทบประเด็นเรื่องโครงสร้างของระบบต่างๆ ถึงระดับรากลึก โดยควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่า สังคมที่รับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ดีนั้น มิใช่สังคมของโลกเสรีหรือเผด็จการ มีแต่เพียงสังคมที่ผู้คนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการร่วมกันแก้ปัญหาและฟันฝ่าทุกอุปสรรคด้วยความ “รู้รักสามัคคี”

ในแบบ Quick Fix ทางเศรษฐกิจและการสร้างแรงบันดาลใจสมัยใหม่ หากภาคเอกชนไทยสามารถเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันและสร้างธุรกิจยูนิคอร์นของไทยขึ้นมาเป็นแบบอย่างได้สักหนึ่งธุรกิจ ก็จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลในสภาวะนี้ ยังจะทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง กระตุ้นให้เกิดฐาน Big Data และการใช้ประโยชน์ที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดในโลกที่มีประชากรมากที่สุด คือ ประชากรบนอินเตอร์เน็ต เป้าหมายของเราจึงมิใช่ประเทศคู่ค้าหลักเพียงบางประเทศอย่างที่เราจำแนกด้วยความคุ้นเคยอีกต่อไป ประเด็นจึงอยู่ที่ภาครัฐและเอกชนของเราจะกำหนดและบริหารจัดการเพื่อให้เอื้อต่อการสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้และขยายไปยัง social commerce ที่แลกเปลี่ยนดูแลซึ่งกันและกันในระดับคนในท้องถิ่นได้อย่างไร

๐จากสิ่งที่เกิดขึ้นคิดว่าไทยควรจะดำเนินนโยบายต่างประเทศของเราอย่างไร

สิ่งแรกที่เราควรคิดถึงคือเราจะดำเนินนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด ซึ่งเรื่องนี้มีอำนาจรัฐและการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก

ในด้านการต่างประเทศ นอกจากเราต้องสังเคราะห์ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเกมการเมืองของมหาอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง การทหารและความมั่นคงในทุกมิติ ซึ่งนอกจากจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องแล้ว ปัจจุบันเราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านการคลัง เงินดิจิทัล พลังงาน การรับมือกับพิบัติภัยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม บทบาทด้านการเงินของ City of London แบงค์ชาติของแบงค์ชาติทั้งหลาย สภาการระหว่างประเทศ และจุดยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศทางทะเล

สำหรับงานด้านการทูต เรื่องที่ต้องจับตาให้ดี ได้แก่ การจับกลุ่มของขั้วอำนาจ เช่น การประกาศช่วยเหลือร่วมมือกันด้านความมั่นคงระหว่างรัสเซียและจีน การรวมประเทศกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต 9 ประเทศ ซึ่งรวม EAEU (Eurasia Economic Union อีก 5 ประเทศ) ของรัสเซีย บทบาทของอินเดีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ ชาติตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศตะวันออกกลางในด้านพลังงาน รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบทางการเมืองและสังคมในประเทศต่างๆ ที่สำคัญ

นอกจากไทยจะต้องเข้าใจนโยบายและทุกก้าวย่างของสหรัฐและพันธมิตรแล้ว ภาครัฐและเอกชนไทยต้องเข้าใจจีน มหาอำนาจผู้ท้าชิง และรัสเซีย มหาอำนาจที่เป็นตัวคานดุลอำนาจอย่างลึกซึ้ง ในโลกที่สหรัฐยังทิ้งห่างด้านการทหารและอิทธิพลของ fiat currency แต่เศรษฐกิจและการเมืองรวมถึงสังคมภายใน และภาวะผู้นำรวมถึงความต่อเนื่องในการปกครองถดถอยไปมาก เราจึงต้องเข้าใจทั้งสองประเทศทั้งในฐานะผู้ท้าชิงและผู้มีส่วนสำคัญในการเล่นเกมและปรับทิศทางของโลกที่จะกระทบการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินด้านการต่างประเทศ (International Affairs) กิจกรรมหรือโครงการที่ดำเนินการโดยส่วนราชการทั้งหลายในต่างประเทศให้ตอบโจทย์บริบทใหม่นี้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากขณะนี้เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษของประวัติศาสตร์โลก คัมภีร์การดำเนินนโยบายในทุกมิติของการต่างประเทศที่ใช้ในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมาย่อมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงและความท้าทายในขณะนี้ และในอนาคต กิจกรรมหรือโครงการที่เน้นผลในระดับผลผลิตหรือผลลัพธ์ซึ่งดำเนินการกันอยู่ย่อมไม่เพียงพอต่อการรับมือกับพลวัตในโลกวันพรุ่งนี้

ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นไปได้สูงที่สุด คือ เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลานาน ซึ่งมีรากฐานจากปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบโลกในหลายๆ ด้าน สังเกตได้จากความอ่อนแอของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในเชิงความสำคัญและอุปทาน จึงถูกท้าทายด้วยการเพิ่มการใช้เงินหยวนและรูเบิลในฐานะเงินตราที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศ หากเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ซึ่งถูกกระตุ้นให้เร็วและรุนแรงด้วยโควิด-19 ก็น่าจะมาจากวิกฤตด้านการเงินในสหรัฐ ซึ่งจะลามไปกระทบทั่วโลกอย่างหนัก

แต่ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไทยก็ควรใช้วิกฤตโควิดในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และองคาพยพเพื่อหลอมรวมและขับเคลื่อนกิจการต่างประเทศของทุกกระทรวงให้เข้ากับระบบการบริหารภายในประเทศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงจากบริบทโลก โดยไทยต้องสร้างหรือนำตนเองเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ทางคุณค่า (value chain) บนสถาปัตยกรรมที่มหาอำนาจหรือกลุ่มที่สำคัญๆ สร้างไว้ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ฟินเทค กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เครือข่ายระบบที่เชื่อมโยงทางกายภาพและการสื่อสาร และใช้โอกาสจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสู่การพัฒนาประเทศในทุกมิติให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image