ยุโรปพบอีก 2 คน ติดเชื้อโควิดซ้ำ ผวาทำวัคซีนไร้ผล

REUTERS/Yves Herman

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่า หลังจากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยพบผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหายป่วยหลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนาน 14 วัน กลับมาติดเชื้อใหม่อีกครั้งในอีกกว่า 4 เดือน และตรวจสอบพบว่าเป็นเชื้อคนละสายพันธุ์กันโดยสิ้นเชิงนั้น ก็มีการแถลงการตรวจสอบพบการติดเชื้อซ้ำในผู้ป่วยอีก 2 ราย ในประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกลับมาติดเชื้อครั้งใหม่ห่างจากการติดเชื้อครั้งแรกหลายเดือนเช่นกัน ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญเริ่มกังวลว่า การติดเชื้ออาจไม่ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค และกรณีติดเชื้อซ้ำอาจทำให้วัคซีนโควิด-19 ที่กำลังแข่งกันพัฒนา ไม่ได้ผลในการป้องกันอย่างที่คาดหมายกันไว้

ศาสตราจารย์ มาร์ค ฟาน แรนสต์ นักไวรัสวิทยาชาวเบลเยียม เปิดเผยรายละเอียดของกรณีผู้ป่วยชาวเบลเยียมว่า เป็นสุภาพสตรีวัย 50 เศษ ซึ่งติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นก็กลับมาติดเชื้ออีกครั้งในเดือนมิถุนายนด้วยเชื้อที่มีพันธุกรรมแตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง ข้อสังเกตของนักวิชาการผู้นี้ก็คือ ผู้ป่วยรายนี้มีแอนติบอดีในร่างกายไม่มากนักหลังการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งน่ากังวลแม้ว่าอาจเกิดจากการที่อาการป่วยของผู้ป่วยรายนี้ไม่หนักมากก็ได้ก็ตาม ศาสตราจารย์ฟาน แรนสต์ ยอมรับว่า การติดเชื้อซ้ำอาจเป็นข้อยกเว้นที่หาได้ยาก แต่ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดเช่นนั้นในเวลานี้ และเป็นไปได้สูงมากที่จะมีกรณีติดเชื้อซ้ำเช่นนี้ผุดขึ้นมามากขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ศาสตราจารย์ฟาน แรนสต์ ชี้ให้เห็นว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้มีสภาวะทางพันธุกรรมเสถียรกว่าเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ถึงจะเสถียรกว่าก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดีตามธรรมชาติของไวรัส การกลายพันธุ์ของไวรัสส่งผลให้วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะใช้ไม่ได้ตลอดไป แต่อาจต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ทุกๆ 10 ปีหรือ 5 ปี เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้ออกแบบและพัฒนาวัคซีนไม่ควรประหลาดใจแต่อย่างใด

สถาบันเพื่อสาธารณสุขแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ ยืนยันในวันเดียวกันว่าพบผู้ป่วยชาวเนเธอร์แลนด์รายหนึ่งซึ่งติดเชื้อซ้ำ ด้วยไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งต่างสายพันธุ์กัน นางแมเรียน คูปแมนส์ นักไวรัสวิทยาระดับแนวหน้าของประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกอยู่ด้วย ชี้ว่า ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ และสามารถตรวจสอบพบเชื้อในปริมาณที่มีนัยสำคัญทั้งในการติดเชื้อครั้งแรก และครั้งหลัง จนสามารถนำมาจำแนกพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบกันได้ว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนั้นยังพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยรายนี้อ่อนแอตามธรรมชาติของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการติดเชื้อซ้ำขึ้น

Advertisement

นางคูปแมนส์ยอมรับว่ามีคนเป็นกังวลว่าการติดเชื้อซ้ำนี้อาจกลายเป็นมาตรฐานของโรคโควิด-19 แต่ตนไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ เดวิด สเตรน ประธานคณะกรรมการวิชาการการแพทย์ของแพทยสมาคมแห่งอังกฤษ และเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเอ็กเซตเตอร์ ชี้ว่ากรณีติดเชื้อซ้ำนั้นน่ากังวลด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรกคือ การติดเชื้อซ้ำแสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อครั้งแรกไม่ได้ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ประการถัดมาคือ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การฉีดวัคซีนอาจไม่ส่งผลต่อการป้องกันโรคอย่างที่เราคาดหวังกันว่าจะเกิดขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image