ออสเตรเลีย พัฒนาวิธีใช้แอนติบอดีรักษาโควิด-19 เล็งทดลองต้นปีหน้า

REUTERS/Sandra Sanders

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมนี้ว่า การศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาแอนติบอดี ที่มีความสามารถในการยับยั้งการระบาดโควิด-19 ของทีมวิจัยจากสถาบันวอลเทอร์แอนด์เอลิซา ฮอลล์ ในนครเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย นำโดยนาย ทัม ไวฮอง รุดหน้าไปมากจนสามารถบ่งชี้ชนิดของแอนติบอดี ที่มีผลในการยับยั้งการทำงานของสไปค์ โปรตีน หรือตุ่มโปรตีนที่บริเวณเปลือกเซลล์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไม่ให้จับเข้ากับรีเซปเตอร์ของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อขึ้นนั้นเอง โดยทีมวิจัยคาดหวังว่าจะสามารถทดลองใช้วิธีการรักษาใหม่นี้ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นมนุษย์ได้ในราวต้นปีหน้านี้

กระบวนการรักษาด้วยการให้แอนติบอดี หรือ แอนติบอดี เทราปี ดังกล่าวจะมีประโยชน์สูงสุดในการใช้รักษาผู้ป่วยสูงอายุ และบุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำหรืออ่อนแออยู่เดิมแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในออสเตรเลียเพราะราว 64 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิต 549 รายนั้น เป็น ผู้สูงอายุที่พำนักอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ

วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์แถลงว่า ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนโดย ศาสตราจารย์คีธ แชปเปล ได้รายงานต่อสมาคมระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาวัคซีน ถึงผลการทดลองขั้นต้นของวัคซีนในหนูแฮมสเตอร์ ที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันและมีความปลอดภัยเพียงพอ ต่อการก้าวไปสู่การทดลองในคนได้ ทั้งนี้หากการทดลองในคนระยะแรกและระยะที่สอง ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหมายไว้ ทีมวิจัยก็อาจสามารถเริ่มการทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ได้ภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแห่งควีนส์แลนด์พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับบริษัท ซีเอสแอล โดยใช้เทคโนโลยี “โมดูลาร์แคลมป์” ซึ่งใช้วิธีการเพิ่มพันธุกรรมให้กับไวรัสเพื่อยับยั้งการก่อโรค แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถโน้มน้าวให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างแอนติบอดีออกมายับยั้งการติดเชื้อในอนาคตได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image