‘เคมบริดจ์’ เร่งพัฒนา ดีเอ็นเอวัคซีน ป้องกันไวรัสโคโรนาแบบครอบจักรวาล

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายโจนาธาน ฮีนีย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสจากสัตว์ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ประกาศเตรียมเริ่มการทดลองวัคซีนที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นในคนราวหน้าหนาวปีนี้ หลังจากได้รับเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนจากรัฐบาลอังกฤษ 1.9 ล้านปอนด์

วัคซีนของเคมบริดจ์แตกต่างอย่างมากกับวัคซีนทุกตัวที่อยู่ระหว่างการทดลองในเวลานี้ เพราะเป็นวัคซีนที่ใช้การจำแนกพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสทุกสายพันธุ์ที่มนุษย์รู้จัก มาเป็นตัวโน้มน้าวให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิคุ้นกันขึ้น ซึ่งหมายความว่าหากประสบความสำเร็จ จะทำให้ วัคซีน “ไดออส-โคแวกซ์-2” ของเคมบริดจ์สามารถป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ทุกชนิด อาทิ สามารถป้องกันการระบาดของทั้ง โควิด-19, ซาร์ส และเมอร์ส ได้ทั้งหมด

นายฮีนีย์ระบุว่า เป้าหมายของเคมบริดจ์ก็คือ การพัฒนาวัคซีนที่ไม่เพียงแค่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคอื่นๆ ได้ด้วย

วัคซีน “ไดออส-โคแวกซ์-2” ของเคมบริดจ์ เป็นวัคซีนดีเอ็นเอ หรือดีเอ็นเอ เวคเตอร์ วัคซีน ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์สร้างโครงสร้างโปรตีนแอนติเจนที่มีรหัสพันธุกรรมสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งสามารถเหนี่ยวนำให้ร่างการสร้างแอนติบอดีขึ้นมา เพื่อยับยั้งการติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งหลาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พบว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองขั้นต้นมาแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image