สาธารณรัฐตุรกี เออร์ดูอัน กุลเลน และรัฐประหารล่ม (1) โดย จรัญ มะลูลีม

สาธารณรัฐตุรกี เออร์ดูอัน กุลเลน และรัฐประหารล่ม (1) โดย จรัญ มะลูลีม

สาธารณรัฐตุรกี เออร์ดูอัน กุลเลน และรัฐประหารล่ม (1)

ตุรกีมีพื้นที่ 784,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 300,000 ตารางไมล์ มีขนาดเล็กกว่าปากีสถานเล็กน้อย แต่มีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัส

ตุรกีมีชายแดนร่วมกับซีเรีย อิหร่าน อิรักและสมาชิก EU อย่างกรีซและบัลแกเรีย มีเส้นทางทะเลดำที่หันสู่รัสเซีย

เมืองหลวงของตุรกีคืออังการา (Ankara) มีประชากรห้าล้านคน อิสตันบูลเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรม และมีประชากรอยู่ถึง 15 ล้านคน

สาธารณรัฐตุรกีซึ่งเป็นรัฐฆราวาสนิยมตั้งขึ้นใน ค.ศ.1923 หลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมานในปลายสงครามโลกครั้งที่ I

Advertisement

มุสฏอฟา เคมาล อะตาเติร์ก (Mastafa Kemal Ataturk) ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ.1938 อิสเม็ต อิโนนู (Ismet Inonu) ได้ตั้งพรรคประชาธิปไตยผสมขึ้นมาใน ค.ศ.1946 หลังจากนั้นตุรกีก็ต้องพบกับการรัฐประหารใน ค.ศ.1960, 1971 และ 1980

ใน ค.ศ.1997 ทหารตุรกีได้บังคับให้ เน็ตเม็ตติน เอิรบาคาน (Necmettin Erbakan) ซึ่งเป็นผู้นำนิยมอิสลามและเป็นวีรบุรุษของเออร์ดูอัน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

เป็นสมาชิกนาโตมาตั้งแต่ ค.ศ.1952 ตุรกีจึงเป็นประเทศแนวหน้าของนาโตมามากกว่า 60 ปี

Advertisement

ถือเป็นประเทศหลักที่ร่วมมือกับสหรัฐในการต่อสู้กับกองกำลัง IS แต่ต้องรอเป็นปีกว่าจะร่วมกันถล่มซีเรียและเปิดฐานทัพอากาศให้กับเครื่องบินสหรัฐ

ตุรกีวิพากษ์การเข้ามาแทรกแซงของรัสเซียในซีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางอากาศหลายครั้งทางชายแดน

นับจากเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 เป็นต้นไป ตุรกีต้องเผชิญกับความรุนแรงขนานใหญ่จากการฟื้นตัวของชาวเคิร์ดหรือคูร์ด ซึ่งเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลมายาวนาน การฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งของชาวเคิร์ดมีพื้นฐานมาจากสงครามในซีเรียที่ชาวเคิร์ดได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐ

การหยุดยิงชั่วคราวกับพรรค PKK หรือพรรคแรงงานคูร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party) ของฝ่ายเคิร์ดได้ยุติลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 เมื่อรัฐบาลตุรกีบุกเข้าโจมตีคู่ปรปักษ์ทั้งสองด้านคือโจมตี IS และโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีและภาคเหนือของอิรัก

นับจาก ค.ศ.1984 เป็นต้นไป พรรค PKK ของชาวเคิร์ดได้ลุกขึ้นก่อกบฏในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีซึ่งมีชาวเคิร์ดเป็นคนส่วนใหญ่ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 45,000 คน

หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะความเป็นประชาธิปไตยของตุรกีและเสรีภาพของการพูดหลังจากกลุ่มก้อนของสื่อถูกจู่โจม นักหนังสือพิมพ์ได้รับการกวาดล้าง

นับจากตอนกลางของ ค.ศ.2015 เป็นต้นไป ตุรกีถูกโจมตีหลายครั้งโดยมีประชาชนจำนวนมากต้องจบชีวิตลง ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน มีการระเบิดขนาดใหญ่ในประวัติศาสตร์ของตุรกี ที่ประชาชนถูกสังหารถึง 103 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 500 คนจากระเบิดพลีชีพ โดยมีผู้เดินขบวนสนับสนุนชาวเคิร์ดตกเป็นเหยื่อ ประธานาธิบดีเออร์ดูอันออกมากล่าวว่า IS เป็นผู้ต้องสงสัย

ค.ศ.2016 เกิดการโจมตีครั้งใหญ่เกิดขึ้น 7 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 120 คน ต่อมาได้มีการโจมตีเกิดขึ้นอีกในวันที่ 28 กรกฎาคม โดยมีผู้เสียชีวิต 48 คน รวมทั้งชาวต่างชาติ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 200 คน อันเนื่องมาจากระเบิดพลีชีพที่เกิดติดต่อกันสามครั้ง รวมทั้งการโจมตีด้วยอาวุธปืนที่สนามบินอะตาเติร์ก กรุงอิสตันบูล

ไม่มีใครออกมารับผิดชอบ แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นฝีมือของ IS

ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตผู้อพยพ โดยมีผู้ลี้ภัยซีเรียอยู่ในตุรกีถึง 2.7 ล้านคน ในขณะที่ประชากรในประเทศมีอยู่ราว 80 ล้านคน อันเนื่องมาจากความหฤโหดของสงครามในซีเรียที่แผ่ขยายข้ามแดนมาถึงตุรกีใน ค.ศ.2011 ทำให้ตุรกีต้องกลายมาเป็นเจ้าภาพรองรับผู้อพยพที่มีจำนวนมากที่สุดของโลก

ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมากพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงยุโรปจากชายฝั่งตุรกีทำให้การเดินทางผ่านทะเลของกรีซเต็มไปด้วยความยากลำบากและทุกข์ทรมาน

ภายใต้ข้อตกลงที่เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งระหว่าง EU กับตุรกีในที่สุดในเดือนมีนาคม ค.ศ.2016 ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีหลักฐานการลี้ภัยจึงถูกส่งกลับจากหมู่เกาะของประเทศกรีซไปยังตุรกี

เออร์ดูอัน

ใน ค.ศ.2000 เรซิป ตอยยิบ เออร์ดูอัน (อ่านตามภาษาเตอร์กิช) พร้อมกับพันธมิตรร่วมใจที่ใช้เวลาร่วมกันมายาวนาน คือ อับดุลลอฮ์ กุล (Abdullah Gul) และคนอื่นๆ ตั้งพรรค AKP ซึ่งมีพื้นฐานอิสลามขึ้นมาอันเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมาตลอดนับจาก ค.ศ.2002 เป็นต้นไป

เออร์ดูอันซึ่งปัจจุบันอายุ 61 ปี ได้นำเอาความมั่นคงมาให้ตุรกี หลังจากประเทศตุรกีต้องถูกสั่นคลอนด้วยการรัฐประหารและการเมืองพรรคผสมซึ่งทำให้ตุรกีมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก่อน

พรรคซึ่งมีรากมาจากแนวคิดอิสลามอย่างพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party (AKP) เข้ามาสู่อำนาจในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2002 โดยมีเออร์ดูอันขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจาก ค.ศ.2003-2014 และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของตุรกีคนแรกที่ได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรง ใน ค.ศ.2014

เออร์ดูอันส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้มีความคล้ายคลึงกับระบอบการบริหารของสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี

รัฐประหารเมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.2016 เป็นรัฐประหาร ซึ่งเขาไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้นแม้แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน

เขาเป็นผู้นำที่มีลักษณะผสมผสานอย่างหลากหลายในประวัติศาสตร์ของสาธารณตุรกีสมัยใหม่เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพอย่างสูงสุดจากผู้นิยมเขาในฐานะผู้ที่ทำให้ตุรกีมีความทันสมัย อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นคนเจ้าอารมณ์ เออร์ดูอันถูกเรียกโดยสานุศิษย์ของเขาว่าเจ้านายใหญ่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าสุลต่านที่ห้ามใครมาวิพากษ์ตัวเขา

ความเป็นเผด็จการของเออร์ดูอันเห็นได้จากการที่นักหนังสือพิมพ์และคนทั่วไปต้องไปศาลด้วยข้อหาวิพากษ์การเป็นผู้นำของเขา

เออร์ดูอันมีความสามารถในการลดอำนาจทางทหารในประเทศลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจติดต่อกันมา 13 ปี เขาสามารถเด็ดปีกทหารที่ต่อต้านเขาลงได้เกือบหมด

เออร์ดูอันนำเอาความเคร่งครัดศาสนามาใช้ในสังคมตุรกีด้วยการห้ามขายเหล้า แยกหญิงชายในการเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐและควบคุมอินเตอร์เน็ต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image