ชี้ไม่ถึง 50 ปีสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงกว่า 2 ใน 3

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าจำนวนสัตว์ป่ารวมถึงนกและปลาทั่วโลก ลดลงอย่างมากถึง 2 ใน 3 ในเวลาเพียงไม่ถึง 50 ปี เนื่องจากการบริโภคที่มากเกินความต้องการที่รุนแรงจนเกินจะควบคุม

การเพิ่มขึ้นของการตัดไม้ทำลายป่ารวมถึงการขยายพื้นที่ทำการเกษตรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการลดลงของสัตว์โลกถึง 65% ในช่วงระหว่างปี 1970-2016

ขณะที่กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้พื้นดิน 3 ใน 4 ลดคุณภาพลงอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับมหาสมุทรราว 40% ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

การทำลายล้างธรรมชาติอย่างรวดเร็วโดยฝีมือของมนุษย์ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่พ้น

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการสูญเสียถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมนุษย์ได้ขยายการดำรงอยู่ของตนเองเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากขึ้น

ในช่วงไม่ถึงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการขยายตัวของการบริโภค ซึ่งเกี่ยวพันกับทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก และส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักจากการแปรสภาพไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบกับพื้นที่ป่าและการทำเกษตรแบบฟาร์มที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ทำให้สัตว์ป่าต้องสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย

ปัจจุบันพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของพื้นดินทั่วโลก รวมถึง 3 ใน 4 ของน้ำสะอาดถูกใช้ไปเพื่อการผลิตอาหารให้กับมนุษย์ เช่นเดียวกับในมหาสมุทรที่ปลาถึง 75% ถูกนำไปใช้ประโยชน์

ขณะที่ปริมาณสัตว์โลกลดลงอย่างรวดเร็ว ในบางพื้นที่ของโลกสัตว์บางสายพันธุ์สูญหายไปรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ อาทิ พื้นที่ร้อนชื้นในเขตอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่มีการลดลงของสายพันธุ์สัตว์ป่ามากถึง 94% นับตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลดังกล่าวมาจากดัชนีลิฟวิ่งแพลเนท 2020 ซึ่งเป็นการติดตามแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรโลก ที่จัดทำโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ร่วมกับสมาคมสิ่งแวดล้อม สถาบันวิชาการ และเอ็นจีโอที่เป็นพันธมิตร ได้ติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกและการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากน้ำมือมนุษย์ โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์

รายงานดังกล่าวระบุว่าการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งขว้าง รวมถึงให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะช่วยลดความเร็วของทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมสภาพลงได้ ยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ถึง 2 ใน 3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image