คอลัมน์ไฮไลต์โลก: “โควิด-19” ตอกตะปูปิดฝาโลงห้างเก่าแก่ญี่ปุ่น

แฟ้มภาพรอยเตอร์

หลังจากที่เปิดให้บริการลูกค้ามายาวนานกว่า 3 ศตวรรษ “โอนูมะ (Onuma)” ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ในจังหวัดยามางาตะ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในปีนี้ โดยที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่ากิจการห้างจะถูกฟื้นฟูเพื่อให้ดำเนินต่อไปได้หรือไม่ หรือเจ้าหนี้ของห้างโอนูมะจะขายทอดกิจการทิ้งให้กับนักลงทุนที่เงินหนากว่าไป

ห้างโอนูมะ เป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากจากภาวะธุรกิจซบเซาลงอย่างหนัก โดยที่วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามา ดูจะเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงห้างค้าปลีกที่อยู่ในสภาพสะบักสะบอมให้ล้มจมดินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ห้างนากาโกะ (Nakago) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ 146 ปี ต้องปิดสาขาสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในจังหวัดฟุคุชิมะไป ขณะที่บริษัทอิซุสึยะ (Izustuya Co.Ltd,) ก็ต้องปิดสาขาห้างอิซุสึยะ 1 ใน 2 แห่งที่อยู่ในเมืองคิตะคิวชูลง

ไม่เว้นแม้ห้างบิ๊กเนมอย่าง อิเซตัน และ มิตสึโกชิ ของบริษัทอิเซตัน มิตสึโกชิ โฮลดิ้ง จำกัด (Isetan Mitsukoshi Holdings Ltd.) ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งได้ปิดห้างสาขาไปแล้วหลายแห่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ประกาศแผนการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าจะปิดห้างมิตสึโกชิในย่าวดาวน์ทาวน์ของกรุงโตเกียวลงในปีหน้า

Advertisement

แน่นอนว่าในปีนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในแทบจะทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้คนออกมาจับจ่ายกันน้อยลง ทว่าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจห้างค้าปลีกในญี่ปุ่นมองว่าไม่ใช่แค่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ทำให้การดำเนินธุรกิจของพวกเขาตกอยู่ในภาวะทรุดหนัก หากยังมีตัวแปรอื่นที่สั่นสะเทือนธุรกิจห้างค้าปลีกมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของญี่ปุ่น ไปจนถึงไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิทัล ที่ผู้คนหันมาจับจ่ายซื้อของผ่านออนไลน์กันมากขึ้น

มีรายงานตัวเลขยอดขายในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ว่าลดลงไป 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้เหล่าผู้กำหนดนโยบายอดหวั่นกลัวไม่ได้ว่าจะมีห้างค้าปลีกต้องปิดตัวลงและประสบภาวะล้มละลายลงไปอีกมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามยอดขายในภาคอุตสาหกรรมและจำนวนห้างร้านได้ลดลงไปแล้วถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปีค.ศ.1999 เป็นต้นมา โดยส่วนหนึ่งของห้างค้าปลีก 203 แห่งในญี่ปุ่น ยังต้องปรับตัวด้วยการหดพื้นที่ของทางห้างลงแล้วเปิดให้ผู้ค้ารายอื่นเข้ามาเช่าพื้นที่แทน

การล้มลงของห้างค้าปลีกรายใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ยังก่อให้เกิดความหวั่นวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจ้างงาน และการอาจทำให้ผู้ปล่อยสินเชื่อไม่สามารถรับมือกับหนี้เสียที่จะมีเพิ่มขึ้นอย่างมากได้

Advertisement

เชื่อว่าข่าวการล้มละลายของห้างโอนูมะ จะทำให้ลูกค้าและผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้น อดใจหายไม่ได้ ด้วยความไม่แน่ใจว่าห้างเก่าแก่ที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปีแห่งนี้จะได้อยู่ต่อหรือต้องปิดตัวลงไปในที่สุด หลายคนยอมรับว่าการล้มลงของห้างโอนูมะเป็นเพราะไม่สามารถต้านทานต่อไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด และระบบขนส่งสาธารณะที่มีการเชื่อมต่อไปยังเมืองใหญ่กว่าได้เร็วขึ้น

ทาคาชิ อิโนะอูเอะ ประธานบริษัทผลิตเหล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดยามางาตะ สะท้อนความเห็นถึงการล้มละลายของห้างโอนูมะลงในบล็อกของตนเอง ไว้ว่า “โครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งคมนาคม ไลฟ์สไตล์ ข้อมูล วัฒนธรรม ค่านิยม ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว!”

เป็นการยอมรับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ส่งผลให้ห้างที่เขาเห็นมานาน กำลังล้มลง โดยมี ไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ล้มลงเร็วขึ้น!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image