การประชุมรมว.กต.อาเซียน’53 ร่วมมือฝ่าวิกฤต ‘โควิด-19’

เสร็จสิ้นกันไปแล้วสำหรับการประชุมที่ยาวนานและมีประเทศเข้าร่วมมากที่สุดประจำปีของอาเซียนที่มักจะเรียกกันติดปากกว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 19 การประชุม หรือหากจะไล่เรียงเฉพาะบางการประชุมก็คือการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 53 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (พีเอ็มซี) การประชุมความสัมพันธ์อาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (อาเซียน+3) ครั้งที่ 21 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) ครั้งที่ 10 และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ครั้งที่ 27 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 กันยานยนที่ผ่านมา

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล แม้ว่าจะมีความพยายามจากเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนปัจจุบัน ที่พยายามผลักดันให้รัฐมนตรีของประเทศต่างๆ รวม 27 ประเทศที่มีส่วนร่วมกับการประชุมครั้งนี้เดินทางไปยังเมืองดานังของเวียดนามเพื่อเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง แต่สุดท้ายการเดินทางไปร่วมประชุมก็ไม่อาจเกิดขึ้น หลังพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเวียดนามในช่วงไม่กี่เดือนมานี้

แน่นอนว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดที่มีการพูดถึงในแทบจะทุกกรอบการหารือหนีไม่พ้นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับทุกประเทศทั่วโลก โดยอาเซียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามผลการประชุมสุดยอดและการประชุมสมัยพิเศษในกรอบอาเซียน+3 ว่าด้วยเรื่องโควิด-19 ตลอดจนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ที่นำไปสู่การจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 รวมถึงความร่วมมือในมิติอื่นๆ ที่จะช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ท้าทายครั้งใหญ่ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังพูดถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงความความสำคัญในการกระชับความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ภาคีภายนอก และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่มาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั้งยังให้มีการกระชับความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์ในด้านการวิจัย พัฒนา การผลิต การแจกจ่ายวัคซีน และการเข้าถึงยาต้านโควิด-19

Advertisement

ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมไปถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้เกิดความท้าทายเป็นวงกว้างทั้งต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน การสูญเสียงาน และความต้องการสินค้าที่ประสบภาวะชะงักงัน จึงเน้นย้ำถึงพันธกรณีที่จะต้องมีการเปิดตลาดเพื่อรองรับการค้าและการลงทุน อำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน อำนวยความสะดวกในการเดินทางที่จำเป็นโดยเฉพาะนักธุรกิจ โดยมีการรับประกันความปลอดภัยด้านสาธารณสุขให้สอดคล้องกับความพยายามในการรับมือกับการระบาดใหญ่

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอให้มีการตั้งกองทุน “ASEAN SMEs Recovery Facility” เพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดบ่อมให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและฟื้นตัวจากโควิด-19 ด้วย

Advertisement

สำหรับการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ผู้นำอาเซียนตั้งเป้าว่าจะให้มีการลงนามกันภายในปีนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปยังคงเน้นย้ำถึงพันธกรณีที่ตั้งเป้าไว้ดังกล่าว ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเห็นว่าการลงนามอาร์เซ็ปจะเป็นการตอบสนองอย่างแข็งขันต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

ในประเด็นสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังคงเน้นย้ำถึงความสนับสนุนต่อคำสัญญาของเมียนมาที่จะรับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงของชุมชนต่างๆ ในรัฐยะไข่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พลัดถิ่นได้เดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย พร้อมกับเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการกับต้นเหตุของความขัดแย้ง และสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่สภาพแวดล้อมที่จะทำให้ผู้คนในชุมชนสามารถสร้างชีวิตขึ้นได้ใหม่ อาเซียนยังยืนยันที่จะให้การสนับสนุนความพยายามของเมียนมาในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง หลักนิติธรรม และสร้างความปรองดองในชุมชนต่างๆ และรับประกันให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสมอภาคในรัฐยะไข่

ส่วนประเด็นทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ในส่วนของการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (ซีโอซี) นั้น ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้เร่งให้มีการสรุปการจัดทำซีโอซีซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างเทศ รวมถึงกฎหมายทะเลปี 1982 ภายในกรอบเวลาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน และยังชื่นชมความพยายามที่จะเร่งจัดทำร่างที่ 2 ของเอกสารที่ใช้เพื่อการจัดทำซีโอซีท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ พร้อมกับเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาเพื่อจัดทำซีโอซีด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ตามที่รัฐมนตรีบางประเทศได้แสดงความวิตกกังวล ซึ่งบ่อนทำลายความไว้ใจและความเชื่อมั่น ทั้งยังทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นและไม่ทำกิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ซับซ้อนหรือทำให้ความขัดแย้งปานปลายออกไปอีก

ด้านสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิดสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียรบนคาบสมุทรเกาหลี โดยอาเซียนพร้อมที่จะเข้าไปมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึงการใช้เวทีของอาเซียนอย่างเออาร์เอฟเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่จะนำไปสู่การเจรจาโดยสันติวิธีของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ถูกจับตามองกันมาอย่างต่อเนื่องในระหว่างการประชุมประจำปีครั้งใหญ่ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หนีไม่พ้นการปะทะกันระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ที่ต่างก็พยายามจะขยายอิทธิพลของตนเองในภูมิภาค ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ก็หนีไม่พ้น

หนึ่งในการประชุมที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคือการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ ครั้งที่ 1 ซึ่งมีประเทศในอาเซียนเข้าร่วม 5 ประเทศคือไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า นายสตีเฟน บีกัน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเข้าร่วมในการหารือดังกล่าวได้กล่าวโจมตีจีนอย่างเปิดเผย โดยอ้างว่าจีนเป็นต้นเหตุของปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบกับความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม จนถึงวิถีชีวิตของผู้คนลุ่มน้ำโขง

“จีนต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในภูมิภาคนี้ เราไม่เหมือนจีนที่บงการให้ทุกคนทำตามความต้องการของตนเอง แต่สหรัฐพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในท้องถิ่น ช่วยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้เป็นประเทศที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง”บีกันกล่าว

ในช่วงหลังมานี้ ดูเหมือนแม่น้ำโขงจะกลายเป็น “แนวรบ” ใหม่ที่สหรัฐใช้ในการเล่นงานจีน นอกเหนือจากประเด็นทะเลจีนใต้ที่สหรัฐพยายามเข้ามาแทรกแซงโดยอ้างความไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จีนได้อ้างสิทธิในพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค แน่นอนว่าทุกคนตระหนักดีว่าการยื่นมือเข้ามาของสหรัฐ ไม่ใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ แต่เพื่อวาดภาพให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทำการอันเป็นการรุกรานผู้อื่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสกัดกั้นการก้าวขึ้นมาของจีน และลดทอนอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ ครั้งแรกนี้ จึงเป็นเวทีที่สหรัฐใช้เปิดศึกอีกด้านกับจีน นอกเหนือจากพื้นที่ทะเลจีนใต้นั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าประเทศในอาเซียนก็ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวดี แต่สิ่งที่อาเซียนต้องการคือความร่วมมือจากทั้งจีนและสหรัฐ ไม่ใช่การมาประกาศสงครามกับฝ่ายใด เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงก็เพิ่งประชุมทางไกลในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 กับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เพื่อพูดคุยถึงความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกันในลุ่มแม่น้ำโขงมาแล้ว

อย่างไรก็ดีในเวทีเออาร์เอฟที่มักจะถูกจับตามองกันทุกปีว่าเป็นเวทีลับฝีปากระหว่างจีนและสหรัฐ ปีนี้สถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าใดนัก เนื่องจากนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน และนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมทางไกลด้วยตนเอง เช่นเดียวกับนายรี ซอน กวอน รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ที่ก็ไม่ได้ร่วมประชุมทางไกลด้วย ทำให้ความร้อนแรงของเวทีดังกล่าวลดลงไปพอสมควร

แม้การประชุมทางไกลภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้บรรยากาศของการหารือและการทำข่าวดูจะแปลกไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกประเทศและทุกคนต้องปรับตัว เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยให้เราสามารถฝ่าฟันการระบาดใหญ่ครั้งนี้ไปให้ได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image